2553/11/30

ความสำคัญกล้ามเนื้อใหญ่ต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย

             ถ้าเราพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ให้เด็กเล็กมีความสามารถแล้ว จะทำให้เด็กมีพัฒนาการใน
ส่วนอื่นๆตามไปด้วย  เพราะความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ หมายถึง ความสามารถในการ
ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งเริ่มจากศีรษะไปสู่ปลายเท้าจากลำตัวไปยังแขน  มือ  และ
นิ้ว  จากสะโพกไปยังขา  จนถึงปลายเท้า  การเคลื่อนไหวของเด็กจะพัฒนาได้เพียงใดขึ้นอยู่กับ
ความพร้อมของร่างกาย    โอกาส   หรือประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่
เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับเด็ก   การพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่จะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของเด็ก
ตั้งแต่เด็กแรกเกิดเราก็สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของเขาแล้ว  ดังนั้นการเคลื่อนไหวในลักษณะ
ต่างๆ ของเด็กแสดงถึงความสามารถของกล้ามเนื้อใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นการคลาน  การยืน  การเดิน  การวิ่ง  การกระโดด   เด็กต้องได้รับการฝึก  การพัฒนาตามลำดับ  ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเคลื่อนไหว
พื้นฐาน   ทั้งการเคลื่อนไหวอยู่กับที่และการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่  ไปจนการเคลิ่อนไหวที่สลับ
ซับซ้อนเพิ่มขึ้น  การฝึกหรือพัฒนาเด็กให้มีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อใหญ่ได้อย่างมี
ประสิทธิภาพโดยกิจกรรมง่ายๆ เช่น  การร่วมกิจกรรมกีฬาสี  การเล่นเกม  การเล่นกลางแจ้ง
เป็นต้น  จะส่งผลต่อการพัฒนาด้านอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นต้างอารมณ์  จิตใจ   สังคม
ตลอดจนสติปัญญา

2553/11/26

สมองสองซีกกับเด็กปฐมวัย

                                 คนเรามีความแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ซึ่งไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับ
ความแตกต่างของสมองสองซึก  คือสมองซึกซ้ายกับสมองซีกขวา   สมองทั้งสองซีกมีการทำงานที่
แตกต่างกัน สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในการคิดวิเคาะห์  การคิดเป็นเหตุเป็นผล การเรียนคณิตศาสตร์
การเข้าใจจำนวน  ส่วนสมองซึกขวา  ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์  การจินตนาการ  ความคิดสร้างสรรค์
การมองสิ่งที่เป็นมิติ  การคิดเชิงนามธรรม การมีอารมณ์ขัน  เป็นต้น   สรุปได้ว่าสมองซึกซ้ายมีลักษณะ
เด่นในเรื่องภาษา  ความคิดวิเคราะห์  การคิดคำนวณ ส่วนสมองซีกขวา  มีความเด่นในเรื่องของความ
รู้สึก  อารมณ์  สุนทรียภาพต่างๆ   สมองของคนแต่ละคนมีการทำงานที่แตกต่างกัน   ดังนั้นครูจะต้อง
เข้าใจถึงความแตกต่างในขั้นพื้นฐานก่อนที่จะพัฒนาเด็กแต่ละคน  โดยเฉพาะพ่อแม่  ผู้ปกครองอย่า
เป็นผู้กดดันเด็กโดยไม่รู้ตัว  เช่น  เด็กมีการพัฒนาด้านสมองซึกขวา  มีความชอบในงานศิลปะ  ชอบ
วาดรูป ขณะเดียวกันพ่อแม่ต้องการให้เก่งในเรื่องคณิตศาสตร์ คำนวณหรือภาษาแล้ว เด็กไม่ได้รับ
การสนับสนุนในเรื่องงานศิลปะหรือการพัฒนาในด้านสมองซีกขวาตั้งแต่เล็กๆ   เด็กคนนั้นก็จะไม่
ประสบความสำเร็จเมื่อเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

2553/11/19

คุณค่าของกิจกรรมเสรี/ การเล่นตามมุม

                      การที่เด็กปฐมวัยมีกิจกรรมการเล่นเสรี  หรือให้เด็กเล่นตามมุมนั้น  มีประโยชน์และมี
คุณค่าสำหรับเด็กเป็นอย่างมาก สำหรับบางคนที่ไม่เข้าใจถือว่าเป็นการเสียเวลาและไม่เป็นประโยชน์
แก่เด็ก  จึงให้เด็กนั่งเรียนเขียนอ่านเหมือนเด็กโต  คิดว่ายิ่งเรียนมากๆ  จะทำให้เด็กเก่งและเป็นการฝึกให้เด็กได้เรียนเก่งเมื่อโตขึ้น   ความคิดและความเข้าใจดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างมากสำหรับการอบรมเลี้ยงดูเด็กในวัยนี้   เด็กวัยนี้เรียนรู้จากการเล่น กิจกรรมที่ให้เด็กได้ทำนั้นเด็กต้องได้ทำสิ่งที่สนุกเพลิดเพลินไปพร้อมกัน   เด็กจึงจะเกิดการเรียนรู้  กิจกรรมเล่นตามมุมหรือกิจกรรมเสรี  เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอิสระตามมุมเล่นหรือ  มุมประสบการณ์หรือศูนย์การเรียน  ที่จัดไว้ในห้องเรียน   ไม่ว่าจะเป็นมุมหนังสือ   มุมบ้าน  มุมวิทยาศาสตร์   มุมบล็อก  มุมหมอ  เป็นต้น   การให้เด็กได้เข้าเล่นในมุมดังกล่าว  ครูจะต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นตามความต้องการและความสนใจ    กิจกรรมเสรีนอกจากให้เด็กเล่นตามมุมแล้ว  อาจให้เด็กเลือกทำกิจกรรมที่ผู้สอนจัดขึ้น  อาจเป็นเครื่องเล่นสัมผัส  หรือเกมการศึกษาก็ได้  การให้เด็กได้ทำกิจกรรมเสรี การเล่นตามมุมจึงมีคุณค่าสำหรับเด็ก ดังนั้นครูมีความ
จำเป็นที่ต้องจัดสภาพแวดล้อม  เตรียมวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมและเหมาะสม   และเข้าใจถึงพัฒนาการ
ของเด็กเป็นสำคัญ

2553/11/09

การฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็ก

                         การที่จะให้เด็กมีทักษะการสังเกตเมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่  เด็กจะต้องได้รับการฝึก
ตั้งแต่ยังเล็กอยู่  ดังนั้นครู  พ่อแม่  ผู้ใหญ่  หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กจะต้องจัดประสบ
การณ์ให้เด็กมีทักษะการสังเกต    ทักษะการสังเกตที่จะต้องฝึกให้กับเด็กมีดังนี้
                         1 เด็กจะต้องได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่อง ในการสังเกตสิ่งของบางอย่างเพราะจะได้เห็น
ถึงความแตกต่าง
                         2 ครูหรือผู้ใหญ่จะต้องเตรียมสื่อ  อุปกรณ์ในการฝึกให้พร้อม  มีการออกแบบกิจกรรม
ล่วงหน้า
                         3 การฝึกจะต้องฝึกให้เด็กมีทักษะในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  ได้แก่  ตา  หู จมูก
ลิ้น  และกาย 
                         4 การฝึกทักษะการสังเกตครั้งแรก  ครูจะต้องทำให้เด็กเกิดความสนใจ  และความ
ตระหนักในสิ่งที่จะสังเกต   ดังนั้นกิจกรรมหรือสิ่งที่ให้สังเกตต้องเริ่มจากสิ่งที่ง่ายๆ  ก่อน แล้วจึง
เป็นสิ่งที่ยากขึ้น
                         5 การสังเกตในแต่ละครั้ง ข้อมูลของการสังเกตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ  ครูจะต้องส่งเสริมให้เด็กนำมาช่วยในการตัดสินใจเมื่อเด็กจะต้องการแก้ปัญหา
                          การฝึกทักษะให้เด็กได้มีความสามารถในการสังเกตดังตัวอย่างข้างต้นแล้วในชีวิต
ประจำวันของเด็กจะต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนื่องและตลอดไป

2553/11/04

เด็กเล็กกับการจัดประสบการณ์ทดลอง

        การจัดประสบการณ์ทดลองจะดำเนินการในช่วงกิจกรรมเสริมประสบการณ์   หรือกิจกรรมวงกลม
เน้นการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้ฝึกทักษะกระบวนการ  มากกว่าที่จะให้เด็กได้จำเนื้อหา  เน้นการฝึกทักษะกระบวนการทำให้เด็กได้เกิดความรู้ความเข้าใจ  ในเนื้อหาที่ผู้ใหญ่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นเองในตัวเด็ก   เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ  จากประสบการณ์ตรง  ค้นคว้าหาวิธีด้วยตนเอง    จากการที่เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง  ทำให้เด็กได้พัฒนากระบวนการคิด โดยเฉพาะการคิดหาเหตุผล     ทักษะการคิดแก้ปัญหา   นอกจากนั้นทางด้านอารมณ์  จิตใจ    ทำให้เด็กเป็นคน
ละเอียด  รอบคอบ  มานะอดทน  มีระบบของการทำงานที่มีระเบียบวินัย    และช่วยการสร้างเจตคติ
ที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์     ส่วนทางด้านสังคมทำให้เด็กได้มีโอกาสในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
และปลูกฝังการเรียนรู้ในระบอบประชาธิปไตยเมือโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

2553/11/01

ประโยชน์ของคำคล้องจองสำหรับเด็กปฐมวัย

          คำคล้องจองสำหรับเด็กเล็กเป็นคำที่ต้องใช้ถ้อยคำที่สั้นๆ  ง่ายๆ  และมีความยาวไม่มากนัก  มีเนื้อหาสาระที่ไม่มาก  เด็กท่องแล้วเกิดความสนุกสนาน    ง่ายต่อการจำ    มีความเพลิดเพลินต่อคำสัมผัส  เมื่อเด็กได้ท่อง   คำคล้องจองจึงมีความสำคัญต่อเด็กดังนี้
           -  ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาแก่เด็ก  ทำให้เด็กใช้ภาษาได้อย่างดี
           -  ส่งเสริมจินตนาการให้กับเด็ก
           -  สนองต่อความต้องการทางธรรมชาติในเรื่องของจังหวะ  เพราะเด็กๆ  มีความสุขใน
ขณะที่ได้ท่องคำคล้องจอง
           -  ช่วยเตรียมความพร้อมด้านภาษาก่อนที่เด็กจะได้อ่าน 
           -  สร้างและสะสมคำศัพท์ให้กับเด็ก
           -  เพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆ  แก่เด็ก
           -  สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก
          การให้เด็กได้ท่องหรือพูดคำคล้องจองจึงมีประโยชน์ต่อเด็ก  เป็นอย่างมาก   ครูหรือผู้ใกล้ชิด
เด็กถ้าส่งเสริมให้เด็กได้ท่องคำคล้องจองจะทำให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่างๆโดยเฉพาะภาษา