2554/06/16

เด็กและการเล่นกลางแจ้ง

                          กิจกรรมกลางแจ้งมีความสำคัญกับเด็กปฐมวัย อย่าปล่อยให้เด็กเล่นอยู่เฉพาะในห้อง
เท่านั้น การเล่นกลางแจ้งเป็นกิจกรรมที่เด็กมีโอกาสออกไปนอกห้อง เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย  ส่งผลให้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กได้รับการพัฒนา ด้วยการเดิน วิ่ง กระโดด ยืน นั่ง ฯลฯ เด็กได้เล่นอิสระจากการเล่นอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามประเภทต่างๆ การจัดเครื่องเล่นสนามให้เด็กนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกคือ ความปลอดภัยที่มีต่อเด็ก สำหรับเครื่องเล่นสนามที่จัดให้เด็กได้พัฒนาอย่างครบถ้วนได้แก่ เครื่องเล่นประเภทปีนป่าย   ตาข่ายสำหรับการปีนเล่น  เครื่องเล่นสำหรับการหมุน เครื่องเล่นสำหรับการโยก  เครื่องเล่นสำหรับการเลื่อน  การลากจูง เครื่องเล่นสำหรับการทรงตัว  การโหน นอกจากนั้นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับเด็กคือการเล่นน้ำ  การเล่นทราย   ซึ่งทรายเป็นสิ่งที่เด็กชอบเล่นมากเด็กสามารถก่อทรายเป็นรูปแบบต่างๆ จากการคิดและสามารถนำวัสดุอื่นมาประกอบการเล่นตกแต่งทรายที่ตนเองก่อ ไม่ว่ากิ่งไม้ เปลือกหอย  อุปกรณ์ประกอบการเล่นทรายต่างๆ เป็นต้น บ่อทรายที่จัดให้เด็กควรระวังในเรื่องของความสะอาดอย่าให้สัตว์ทำให้เกิดความสกปรก การเล่นกลางแจ้งจึงจำเป็นและสำคัญต่อเด็ก
เป็นอย่างยิ่ง

2554/06/06

ความจำเป็นของการเล่น

            การเล่นหรือการให้เด็กได้พักมีความจำเป็นสำหรับเด็ก เพราะสมองมีจังหวะหรือวิถีของการ
ทำงาน วงจรการทำงานของสมองมีผลต่อการเรียนรู้และการรับรู้ของเด็ก เมื่อใดที่ถึงจุดสูงสุดที่สมอง
ต้องการพักการเรียนรู้ก็จะเริ่มตกลง เมื่อสมองได้พักการเรียนรู้ก็จะเกิดขึ้น  ดังนั้นการให้เด็กได้เล่นจึง
มีความจำเป็น  การเล่นช่วยให้เด็กคลายความวิตกกังวล  ได้ระบายความเครียด ระบายพลังงานส่วน
เกินออกไป  การเล่นช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กหลายด้าน  เช่น ทักษะทางด้านภาษา ความสามารถ
ทางคณิตศาสตร์  ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์ ฯลฯ  สิ่งที่กล่าวเด็กได้พัฒนาจากการเล่น  นอกจากนั้น
การเล่นทำให้เด็กรับรู้เอกลักษณ์ของตนเอง คือเด็กมีโอกาสได้พัฒนาการรับรู้เอกลักษณ์ของตนเอง
และที่สำคัญการเล่นเป็นการเตรียมสมองให้พร้อมต่อการใช้งาน  กิจกรรมต่างๆที่เด็กได้เล่นจะสร้าง
สมองทุกส่วนให้พร้อมสำหรับการดำเนินกิจกรรมหรือการเรียนรู้เมื่อเด็กโตขึ้น

2554/06/05

เพลง คำคล้องจองส่งเสริมภาษาให้เด็กเล็ก

                เด็กเล็กๆถ้าพ่อแม่ ผู้ปกครองคอยร้องเพลงหรืออ่านคำคล้องจองให้เด็กฟังอย่างสม่ำเสมอ
จะทำให้เด็กมึประสบการณ์ในการฟังเสียงสระ  พยัญชนะ จังหวะ การออกเสียงสูง ต่ำ ถึงแม้เด็กยังไม่ได้
เรียนรู้เกี่ยวกับหลักภาษาแต่เด็กก็ได้ฟังการออกเสียงสัมผัสต่างๆ เกี่ยวกับเพลงหรือคำคล้องจองของเด็กนั้นผู้แต่งจะใช้คำหรือข้อความที่มีรูปแบบซ้ำๆกัน  แม้แต่ทำนองก็จะเป็นทำนองที่ไม่ซับซ้อน มีการเล่นคำหรือการร้องทวนซ้ำไปซ้ำมา ที่เป็นเสียงหรือคำที่ง่ายๆสามารถจำได้อย่างรวดเร็ว เนื้อเพลงก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก  ประกอบกับการออกเสียงที่ถูกต้องของผู้ใหญ่ ร้องด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน  สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เชื่อมกับประสบการณ์เดิม หรือขยายประสบการณ์ให้กับเด็ก  ดังนั้นจึงเป็นพื้นฐานของความเข้าใจและความสามารถพื้นฐานในการใช้ภาษาและการสื่อสารไม่ว่าการฟัง พูดสำหรับเด็ก แม้เด็กบางคนยังไม่สามารถพูดได้ก็ตาม ในด้านการพัฒนา
สมองระดับเสียงที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อคลื่นสมอง ถ้ามีดนตรีประกอบคำคล้องจองหรือเพลง พร้อม
การเคลื่นอไหวท่าทางด้วย สมองจะถูกกระตุ้นและเกิดการทำงานเชื่อมโยงระหว่างสมองซึกซ้ายและซึก
ขวา ที่กล่าวเช่นนี้เพื่อไม่ให้ผู้ใหญ่ได้เคร่งเครียดกับการสอนภาษาให้กับเด็กเล็กที่ใช้วิธีการสอนที่เป็น
ทางการและกวดขันกับเด็กมากเกินไป