2555/12/24

ความสำคัญของการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง

             ความสำคัญของการเลี้ยงดูเด็กมีความจำเป็นมากเพราะพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่่เป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กของพ่อแม่นั่นเอง ซึ่งเป็นการปลูกฝังสิ่งต่างๆที่ถือว่าเป็นการวางรากฐานชีวิตมนุษย์ ซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้
             - การสอนศีลธรรม คุณธรรมโดยการทำตัวอย่างให้เด็กเห็นตั้งแต่ยังเล็ก เช่น การนับถือศาสนาต่างๆ
             - การฝึกมารยาทที่ดีงามตามวัฒนธรรมประเพณีไทย เช่น การทำความเคารพ การรับประทานอาหาร
             - การปลูกนิสัยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย
             - การสอนให้รักษาความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้า
             - ความมีระเบียบวินัย การเคารพข้อตกลงต่างๆ ของกลุ่ม และสังคม
             - การรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเพศชาย หญิง และบทบาททางเพศจากการซึมซับจากพ่อแม่ และบุคคลใกล้ชิด
                                                                  ฯลฯ
             ดังนั้น การอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยพ่อแม่ ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมกันกับโรงเรียนและสังคม

2555/12/13

ประโยชน์ของการวาดภาพระบายสีในเด็กปฐมวัย

            การวาดภาพระบายสีของเด็กปฐมวัยเป็นการวาดภาพหรือระบายสีโดยใช้ดินสอสี สีเทียน สีน้ำ สีโปสเตอร์ พู่กัน ฯลฯ แล้ววาดบนกระดาษหรือวัสดุอย่างอื่น ซึ่งมีประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัยดังนี้
            -  ฝึกการลากเส้นและรูปทรงต่างๆ
            -  เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์
            -  ฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อและประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
            -  ฝึกการใช้สี ทดลองสี เช่น การผสมสีต่างๆ
            -  เด็กได้ผ่อนคลายความเครียด ลดความกดดันทางอารมณ์และส่งเสริมให้มีจิตใจที่ดีงาม
            -  ฝึกการทำงานตามลำพังและเป็นกลุ่ม
            -  ฝึกความรับผิดชอบ เช่น การเก็บวัสดุให้เรียบร้อย
            ฉะนั้นไม่ว่าครูหรือพ่อแม่ผู้ปกครองควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กปฐมวัยได้ทำกิจกรรมดังกล่าวโดยให้เด็กวาดภาพและระบายสีอย่างอิสระและเล่าสิ่งที่เด็กทำ เป็นต้น


2555/12/11

การใช้คำถามสำหรับเด็กเล็ก

           คำถามที่ใช้กับเด็กเล็กๆที่ผู้ใหญ่ถามนั้นควรจะต้องระวังและคำนึงถึงความคิดและความรู้สึกของเด็กในวัยดังกล่าว คำถามต้องเริ่มจากการให้เด็กได้ใช้ความคิดพื้นฐานก่อนและเมื่อเด็กตอบคำถามเหล่านี้ได้แล้ว ครั้งต่อไปจึงค่อยถามคำถามที่ให้เด็กได้คิดในระดับที่สูงขึ้นไป ลักษณะของคำถามที่ใช้กับเด็กมีดังนี้
           - สั้น ไม่เยินเย้อ
           - ถามตรงประเด็นที่ต้องการถาม
           - มีความหมายชัดเจน เด็กเข้าใจคำถามที่ถาม
           - มึความยาก-ง่ายพอเหมาะกับวัยของเด็ก
          จากลักษณะของคำถามข้างต้นผู้ใหญ่จะต้องมีวิธีการอื่นๆอีกในการถามไม่ว่าจะเป็นการใช้เสียง การใช้ท่าทาง การชมเชยให้กำลังใจเด็กไม่ว่าเด็กจะตอบถูกหรือผิด หากเด็กตอบผิด ไม่ทำให้เด็กมีความรู้สึกอาย โดยการตำหนิ ทำโทษ แต่ควรให้กำลังใจและคอยส่งเสริมสนับสนุนช่วยเหลือให้เด็กคิดหาคำตอบตรงตามกับประเด็นที่ผู้ใหญ่ถาม

2555/11/28

กิจกรรมสร้างสรรค์ : การปั้นดินน้ำมัน

              กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลายประเภท การปั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูจัดให้เด็กได้เลือกทำเพื่อเป็นการพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ  การปั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องให้เด็กปั้นดินน้ำมันเท่านั้น อาจใช้วัสดุอื่นมาแทนได้ วัสดุแต่ละอย่างย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น
              - ปั้นดินเหนียว วัสดุหาง่าย จะช่วยสนองความต้องการที่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่เหลวและเหนอะหนะ(สำหรับบางคน)
              - ปั้นแป้ง(โด) วัสดุมีความนุ่มดีกว่าดินหรือดินน้ำมันทำให้ปั้นได้ง่าย สามารถผสมสีอาหารลงไปซึ่งทำให้เด็กมีความสนใจที่จะปั้น
              - ปั้นแป้งทำขนม เมื่อเด็กปั้นจะทำให้เด็กตื่นเต้นในการทำกิจกรรมและเด็กๆทุกคนได้รับประทานด้วย อย่างเช่นการปั้นขนมบัวลอย เป็นต้น
              ดังนั้นการให้เด็กได้ทำกิจกรรมด้วยการปั้นมีความหมายและความสำคัญในการพัฒนาเด็กอย่างหลากหลายทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยที่ผู้ใหญ่จะต้องคอยส่งเสริมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

2555/11/26

หลักการจัดการศึกษาปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปว.พุทธศักราช 2546

                           หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักการจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีแนวคิดทำให้เด็กได้พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างเต็มศักยภาพหากผู้ใหญ่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยึดหลัการดังกล่าว ซึ่งได้แก่
                           - แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ซึ่งมีการพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต่อเนื่อง
                           - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ ที่ผู้ใหญ่ส่งเสริมสนับสนุนด้วยการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
                           - แนวคิดเกี่ยวกับการเล่นของเด็ก เด็กเรียนรู้จากการเล่น
                           - แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมซึ่งเป็นบริบทแวดล้อมเด็กที่แตกต่างกันไป
                           ทั้งหมดที่กล่าวเป็นหลักการสำคัญในการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ชุมชน หมู่บ้าน และในระดับประเทศซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำเพื่อเด็ก

2555/11/23

สิ่งแวดล้อมของโรงเรียน : การพัฒนาพฤติกรรมเด็กปฐมวัย

                 สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมเด็ก อย่างเช่นการที่เด็กมีเพื่อนๆ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการมีความวินัย การเล่นร่วมกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ การที่เด็กได้เล่นหรือทำงานด้วยกัน
ซึ่งเด็กแต่ละคนมาจากครอบครัวที่มีการอบรมเลี้ยงดูที่มีความแตกต่างกัน จะทำให้เกิดการถ่ายทอดพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยให้แก่กันและกัน ขณะเดียวกันครูซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นคนสำคัญที่สุดเมื่อเด็กมาโรงเรียนก็จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาพฤติกรรมเด็กด้วย เด็กจะเชื่อฟังครูเป็นอย่างยิ่ง เด็กเล็กจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ และคอยเลียนแบบพฤติกรรมหรือการกระทำต่่างๆของครู การที่ครูคอยดูแลแนะนำสั่งสอน ตลอดจนคอยตักเตือนเด็กอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการวางรากฐานพฤติกรรมต่างๆให้กับเด็กที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ
              - ความมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา
              -  การอดทนรอคอย
              - การเคารพข้อตกลง ความมีวินัยในตนเอง เป็นต้น
              พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวางรากฐานชีวิตของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนๆมีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก

              

2555/11/10

พ่อ แม่กับบทบาทหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก

                      พ่อ แม่มีความสำคัญยิ่งต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย การรู้และสามารถทำตามบทบาทหน้าที่นั้นมีความจำเป็นต่อการวางรากฐานชีวิตของเด็กก่อนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งพอจะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ได้ดังนี้
                      -  ตอบสนองความต้องการของเด็กด้านร่างกาย เช่น การให้อาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การเอาใจใส่เรื่องการพักผ่อน การฝึกหัดเรื่องสุขนิสัยต่างๆ การป้องกันโรค เป็นต้น
                      -  ตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยา เช่น การให้ความรักความอบอุ่นอย่างเพียงพอ การปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว การให้อิสรภาพและความเป็นตัวของตัวเองกับเด็ก
                      -  ส่งเสริมความสนใจของเด็ก เช่น จัดหาอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ การพาออกไปศึกษาตามสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้
                      -  ถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี เช่น การอบรมมารยาทในสังคม การปลูกฝังและฝึกฝนคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม สร้างความตระหนักต่อการเห็นคุณค่าในสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและประเพณี
                      -  ส่งเสริมการพัฒนาการทางสติปัญญา เช่น ฝึกการใช้ความคิด การให้เด็กมีสมาธิ
                     ดังนั้นบทบาทหน้าที่ดังกล่าวเป็นภาระที่พ่อแม่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเพื่อการวางรากฐานให้กับลูก และไม่ควรปล่อยเวลาที่สำคัญในช่วงนี้ไป

2555/11/04

เรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้ปฏิบัติ

           เด็กจะเกิดการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเองไม่ใช่จากการบอกเล่าจากผู้ใหญ่หรือครู เพราะการได้ลงมือปฏิบัติเป็นการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆรับรู้ข้อมูลทั้งการได้รับฟังเสียง การเห็น การได้สัมผัส ฯลฯ กิจกรรมที่เด็กได้ปฏิบัตินั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูสามารถจัดได้อย่างหลากหลาย เช่น
           -  การทดลองกิจกรรมวิทยาศาสตร์
           -  การแสดงบทบาทสมมติ
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการฟัง
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือทำ
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการบูรณาการการฟังและการดู
                                  ฯลฯ
           ดังนั้น การที่เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมดังที่กล่าวข้างต้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก หรือกระบวนการทำงานของสมองก็จะเกิดการทำงานอย่างมีคุณภาพ ส่่งผลต่อการพัฒนาเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

2555/10/29

คำคล้องจอง:ประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัย

          ผู้ใหญ่หรือครูของเด็กปฐมวัยมักใช้คำคล้องจองในการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และเพื่อให้เด็กได้เกิดประสบการณ์อย่างหลากหลายด้วยคำคล้องจองนั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมากซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้
          -  ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก
          -  ให้เด็กได้เรียนรู้การใช้วรรคตอน ก่อนที่จะอ่านหนังสือซึ่งเป็นการฝึกฝนอย่างเป็นธรรมชาติ
          -  เพิ่มพูนความรู้ในด้านต่างๆให้กับเด็ก
          -  เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มอย่างไม่รู้ตัว
          -  สนองความต้องการทางธรรมชาติในเรื่องของจังหวะ เด็กๆจะมีความสนใจและมีความสุขที่ได้ฟังเสียงหรือท่าทางที่เป็นจังหวะ
          -  พัฒนาการทางภาษาโดยเฉพาะพัฒนาการด้านการฟัง และการพูด
          -  สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก
          ดังนั้นการใช้คำคล้องจองจึงมีประโยชน์สำหรับผู้ใหญ่เป็นอย่างมากในการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการพัฒนาเด็กได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ จิตใจ สังคม ร่่างกายหรือด้านสติปัญญา

2555/10/18

การประเมินความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัย

                      วิธีการประเมินความพร้อมทางภาษาของเด็กเล็กๆที่ทำให้เห็นพัฒนาการของเด็กนั้นคือการสังเกตพฤติกรรมการใช้ภาษาของเด็กในสถานการณ์ต่างๆ หรือการที่เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมขณะทำงานหรือในเวลาที่เด็กเล่น การสังเกตที่แม่นยำคือการสังเกตพฤติกรรมเด็กโดยเด็กไม่รู้ตัว อย่างการสังเกตการออกเสียงพูด ครูควรสังเกตว่าเด็กออกเสียงพูดได้ชัดเจนหรือไม่ เด็กใช้คำศัพท์ต่างๆได้มากน้อยเพียงใด การให้เด็กได้ดูภาพคำศัพท์แล้วให้เด็กพูดคำศัพท์อาจจะเป็นคำศัพท์เกี่ยวกับสัตว์ เครื่องใช้สอย อุุปกรณ์การเรียน เป็นต้น  การใช้ประโยคโต้ตอบกับครู หรือการให้ดูภาพแล้วให้เด็กพูดประโยคเล่าเป็นเรื่องราวตามภาพที่เห็น การใช้ประโยคในการอธิบายเรื่องราวเกี่่่่่ยวกับตนเอง หรือเล่าเรื่องการอธิบายสิ่งที่เด็กได้กระทำแล้วสื่อสารให้บุคคลต่างๆได้เข้าใจ ส่วนการประเมินด้านการฟังก็เช่นเดียวกันคือการใช้การสังเกต โดยพูดกับเด็กแล้วให้เด็กปฏิบัติตามสิ่งที่ครูพูด อาจเป็นประโยคคำสั่ง ประโยคคำถามต่างๆ ถ้าเด็กเข้าใจและปฏิบัติได้ถูกต้องแสดงว่าเด็กมีความสามารถในการฟัง เช่น ให้เด็กไปหยิบสิ่งของเครื่องใช้ การให้เด็กฟังเสียงเพลงแล้วปฏิบัติตามเนื้อเพลงที่ได้ยิน เป็นต้น ถ้าเด็กสามารถสื่อสารด้านการฟังพูดได้อย่างถูกต้องเหมาะสมดังกล่าวก็ถือว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาซึ่งต้องอาศัยครูปฐมวัยและพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กเป็นสำคัญ

2555/10/15

ความมุ่งหมายของการสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย

                           การจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญต่อการเรียนคณิตศาสตร์เมื่อเด็กโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเรื่องเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ จุดมุ่งหมายของการสอนคณิตศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยคือ
                           - เพี่อให้เด็กมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น รู้จักศัพท์ และสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ขั้นต้น
                          - เพื่อพัฒนาความคิดรวบยอดเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น การบวก หรือการเพิ่ม การลดหรือการลบ
                          - เพื่อให้เด็กรู้จักและใช้กระบวนการในการหาคำตอบ เช่น การวัดความยาวของสิ่งของ
การชั่งน้ำหนักของวัตถุ โดยส่งเสริมให้เด็กได้ดำเนินการหาคำตอบด้วยตนเอง
                          - เพื่อฝึกฝนเด็กในเรื่องเกี่ยวกับพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การนับ การวัด การจับคู่
การจัดประเภท การเปรียบเทียบ การเรียงลำดับ เป็นต้น
                          - เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง
                          จึงกล่าวได้ว่าการการพัฒนาความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ให้กับเด็กสามารถทำได้ ถ้าครูปฐมวัยมีความรู้ความเข้าใจ และจัดกิจกรรมที่มีความเหมาะสมกับความสามารถของเด็กซึ่งมีความแตกต่างกับในแต่ละคน   

2555/09/17

การจัดการในชั้นเรียนของเด็กปฐมวัย

           การจัดการในชั้นเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การที่ครูจะประสบความสำเร็จในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กเล็กนั้น ประเด็นสำคัญครูจะต้องจัดการในชั้นเรียนก่อน ซึ่งมีสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือในเรื่องของการจัดการทางกายภาพ และการจัดการทางจิตภาพ สำหรับทางกายภาพเป็นการจัดชั้นเรียนด้านสภาพแวดล้อมซึ่งต้องเกี่ยวข้องในเรื่อง พื้นที่ของห้อง อุปกรณ์ สื่อ ของเล่น สิ่งของเครื่องใช้ การจราจรในห้องเรียน รวมถึงห้องน้ำสำหรับเด็ก การจัดสภาพด้งกล่าวครูจะต้องจัดให้เอื้อต่อเด็กที่จะให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เด็กได้ทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย
สภาพห้องเรียนส่ามารถดึงดูดความสนใจของเด็ก เป็นต้น สิ่งที่กล่าวจะเกึ่ยวข้องกับการจัดพื้นที่ การจัดมุมประสบการณ์ การจัดที่แสดงผลงาน การจัดของเล่น สื่ออุปกรณ์ ของใช้ส่วนตัวของเด็ก สำหรับการจัดการทางจิตภาพนั้นเป็นการจัดห้องเรียนที่เน้นการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่จะเอื้อในการดำเนินกิจกรรมสำหรับเด็กให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรคในการจัดประสบการณ์ และเด็กๆมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และเด็กได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ครูกำหนดไว้

2555/09/12

แนวการจัดการเรียนการสอนวอลดอร์ฟที่ร.ร.บ้านหนองขาม

             โรงเรียนบ้านหนองขาม อยู่ในอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้นำแนวคิดการศึกษาวอลดอร์ฟ
มาจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กปฐมวัย อายุ 4-5 ปี ซึ่งการจัดกิจกรรมให้กับเด็กยึดหลัการที่สำคัญสามประการคือ การทำซ้ำ (repeat) การเคารพและการน้อมรับคุณค่าของทุกสิ่ง(respect) และจังหวะที่สม่ำเสมอ(rhythm) ครูต้าซึ่งเป็นครูประจำชั้นได้จัดกิจกรรมในลักษณะการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เล่น และดำเนินชีวิตตามสภาพที่เด็กเป็นอยู่ คือโรงเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าชุมชน มีชาวบ้านที่ใช้ชีวิต
ในลักษณะของชนบท มีความเรียบง่าย ดังนั้นเด็กๆของที่นี่จึงมีความสุขในชีวิตประจำวันที่พวกเขาได้สัมผัสจากการเป็นแบบอย่างจากครูที่คอยดูแล ให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้กับเด็กๆที่อยู่ในความรับผิดชอบ  สิ่งที่สัมผัสได้จากครูต้าคือ ครูจะคอยส่งพลังแห่งความมุ่งมั่นที่มีในตัวทั้งหมดให้แก่เด็กๆของเขา และที่สำคัญจะเห็นการเป็นแบบอย่างของบุคคลที่พัฒนาความเป็นมนุษย์ในตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่กล่าวเป็นหลักสำคัญของการจัดการเรียนแนววอลดอร์ฟ ที่เน้นความเป็นมนุษย์ ซึ่ง
ปัจจุบันถูกมองข้ามหรือถูกลืมไปมาแล้ว เด็กๆที่นี่่จึงเป็นเด็กที่จะได้รับการวางรากฐานสำคัญในการพัฒนากายและจิตวิญญาณตั้งแต่วัยเด็กเป็นต้นไป

2555/08/26

การจัดประสบการณ์อย่างไรเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย

            สำหรับการจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ถ้าพูดง่ายๆคือ เป็นการจัดประสบการณ์เพื่อให้เด็กได้พัฒนาครบทั้ง 4 ด้านได้แก่ด้านร่างกาย อารมณ์ จิดใจ สังคม และสติปัญญา โดยมิได้มุ่งจะให้เด็กอ่านออกเขียนได้ดังเช่นในระดับประถมศึกษา แต่เป็นการปูพื้นฐานให้กับเด็กโดยคำนึงถึงความสามารถของเด็กเป็นหลัก สำหรับเด็กปฐมวัยเรียนรู้ได้ดีจากประสบการณ์ตรง ประสบการณ์ที่จัดให้กับเด็กจึงควรให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คำนึงถึงความรู้พื้นฐานเดิม  การสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียนสนใจ และจัดให้เหมาะสมกับความต้องการ ความสนใจของผู้เรียน บนพื้นฐานของหลักการ แนวคิดพื้นฐาน ความเชื่อของนักปรัชญาการศึกษา นักจิตวิทยาการศึกษาต่างๆ เป้าหมายที่สำคัญที่เกิดกับเด็กคือ ทักษะทางภาษา ความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อมั่นและทักษะทางสังคม เป็นต้น

2555/08/04

ความสำคัญของการพัฒนาอารมณ์-จิตใจของเด็กปฐมวัย

                     การพัฒนาอารมณ์-จิตใจของมนุษย์นั้นอาศัยการวางพื้นฐานตั้งแต่เด็กๆ ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาไม่ดีในด้านอารมณ์-จิตใจแล้วก็จะติดตัวไปตลอดชีวิต เช่น การแสดงอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม
ความก้าวร้าว การไม่สนใจในอารมณ์ของผู้อื่น เป็นต้น ผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องสร้างเสริมและสนับสนุนเด็กให้มีการพัฒนาทางอารมณ์-จิตใจที่ดีและเหมาะสม สิ่งง่ายๆที่ควรจะต้องช่วยกันทำมีดังนี้
                     - ปลูกฝังให้เด็กรู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควร อะไรคือศีลธรรม ค่านิยมที่ควรปฏิบัติ
                     - หัดให้เด็กรู้จักกับความผิดหวัง การรอคอย ความอดทน เป็นต้น
                     - ฝึกให้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า
                     - สร้างเสริมความมีระเบียบวินัย สามารถควบคุมตนเองได้ การตรงเวลา
                     - ฝึกความประหยัดในเรื่องการใช้เงิน การใช้สิ่งแวดล้อม การใช้สิ่งของ
                     - ฝึกการพี่งตนเอง การช่วยเหลือตนเอง และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง
                    ถ้าผู้ใหญ่ไม่ว่าพ่อแม่ ครูปฐมวัยช่วยกันเสริมสร้างและสนับสนุนการกระทำด้งกล่าวก็จะเป็นพื้นฐานในการวางรากฐานอารมณ์-จิตใจเด็กของเราเมื่อเขาโตขึ้น

2555/07/14

การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่

        โรงเรียนอนุบาลบ้านคา อยู่ที่อำเภอบ้านคา สังกัดสพป.รบ. 1 มีครูที่ผ่านการอบรมการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ เราจึงได้เห็นครูผู้สอนมีบทบาทต่างๆดังนี้
        - ให้อิสระเด็กในการปฏิบัติกิจกรรม โดยให้เด็กปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง ให้โอกาสเด็กในการปฏิบัติกิจกรรมจากสื่อตามช่วงเวลาที่ตนเองสนใจ
        - จัดเตรียมสื่อและสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสมให้กับเด็ก เด็กๆมีความสุขและอบอุ่นใจในขณะปฏิบัติกิจกรรม
        - แนะนำวิธีการใช้สื่อ อุปกรณ์ในการปฏิบัติกิจกรรม ตามขั้นตอน วิธีการใช้ และวัตถุประสงค์ของสื่อแต่ละชนิด
        - คอยสังเกตเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม เพื่อคอยพัฒนาเด็กในขณะทำงาน โดยไม่ขัดจังหวะในกระบวนการพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การมีสมาธิในการทำงาน และการแก้ปัญหาของเด็ก
         ดังนั้นเด็กๆในห้องเรียนที่มีการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรี่ จะมีสมาธิในการทำงาน จดจ่อกับสื่อ อุปกรณ์ที่เขาทำ มีการเรียนรู้อย่างอิสระและตลอดเวลาซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้อย่างชัดเจน
      

2555/07/03

การพัฒนาความสามารถทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย

                    ในเด็กปฐมวัยการพัฒนาด้านต่างๆจะต้องจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถตามวัยและจิตวิทยาของเด็กวัยนี้ การที่จะให้เด็กมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ไม่ใช่ให้เด็กทำแบบฝึกคณิตศาสตร์แล้วเด็กจะเก่งคณิตศาสตร์ เด็กวัยนี้เรียนรู้จากการได้ลงมือปฏิบัติ ได้ทดลองทำด้วยตนเอง ประกอบกับเด็กได้เรียนรู้ในลักษณะของการเล่นด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ดังนั้นการใช้เกมคณิตศาสตร์ เด็กสามารถเรียนรู้ได้จากการฝึกปฏิบัติในการเล่นเกม เช่น เกมอีตัก เกมใครมากกว่าใคร เกมใครมีเท่าไร เป็นต้น เกมเหล่านี้มีผลต่อการพัฒนาเด็กด้านคณิตศาสตร์คือ
                    - กระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้
                    - ฝึกทักษะการสังเกต โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น การดู ฟัง หยิบ จับ
                    - ฝึกการคิดและการวางแผน
                    - ฝึกการกล้าแสดงออกและสร้างความมั่นใจ
                    - ฝึกให้เด็กปฏิบัติด้วยตนเอง
                                ฯลฯ
                    การส่งเสริมและพัฒนาทางคณิตศาสตร์จะต้องเริ่มจากผู้อบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยต้องมีความรู้และเข้าใจใช้กิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการ หากไม่ใช่แล้วเด็กจะมีเจตคติไม่ดีต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์เมื่อโตขี้น

2555/06/24

กิจกรรมศิลปะส่งเสริมลักษณะนิสัยให้กับเด็กปฐมวัย

                       กิจกรรมศิลปะเป็นกิจกรรมที่สร้างพื้นฐานในด้านลักษณะนิสัยให้กับเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่บางคนไม่เห็นความสำคัญจึงเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าเด็กผ่านพ้นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเสริมสร้างลักษณะนิสัยไปแล้ว เราจะกลับมาเริ่มพัฒนาอีกได้ยาก ลักษณะนิสัยที่เด็กได้จากการทำงานศิลปะมีดังนี้
                       - การมีจินตนาการ งานสร้างสรรค์ในสิ่งต่างๆของงานศิลปะเกิดขึ้นจากจินตนาการ
                       - การแสดงออก การแสดงออกทางศิลปะเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดในการตัดสินใจทำเพื่อให้เกิดผลงานทางศิลปะ
                       - ความประณีต การทำงานศิลปะต้องอาศัยความตั้งใจ การใข้ความพยายาม การสังเกต และความประณีตตลอดการทำกิจกรรมศิลปะ
                       - การมีสุนทรียภาพ การทำงานศิลปะจะเกิดความรู้สึกซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในสิ่งต่างๆ การสร้างสรรค์งานศิลปะของเด็กปฐมวัยจะเป็นการสะสมการมีสุนทรียภาพในตัวเด็ก เป็นการทำเพื่อชีวิตและจิตใจที่งดงาม
                       นอกจากลักษณะนิสัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีลักษณะนิสัยอีกมากที่ได้จากการทำงานศิลปะ
ครูหรือผู้ใหญ่จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัย

2555/06/23

ครูกับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์

                  กิจกรรมสร้างสรรค์ในเด็กปฐมวัยคือการทำงานศิลปะของเด็ก ซึ่งไม่ได้เน้นที่ความสวยงามของผลงาน บทบาทและหน้าที่ของครูที่สำคัญคือการดูแลอย่างใกล้ชิด ให้คำปรึกษาแนะนำ แต่ครูจะต้องไม่สั่งการให้เด็กทำตามความเห็นของครู หรือให้ทำเหมือนกันหมดทั้งห้อง นอกจากนั้นครูควรมีบทบาทที่พอจะกล่าวได้ดังนี้
                  - ชมเชยให้กำลังใจขณะที่ทำงานหรือเมื่อทำงานเสร็จ คำชมเชยต้องมีความจริงใจพอสมควร เช่น ถ้าภาพไม่สวยควรชมในด้านความพยายาม
                  - เมื่อเด็กทำงานเสร็จควรให้เด็กเล่าเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ทำ หรือภาพที่วาด เพื่อเป็นการพัฒนาภาษาและความคิดของเด็ก
                  - ทำความตกลงกับเด็กก่อนว่าขณะทำงานต้องระมัดระวังอย่าให้วัสดุหล่น หากหล่นต้องเก็บทันที และช่วยกันเก็บของเมื่อทำเสร็จ
                  - บันทึกวันที่และรายละเอียดของภาพที่เด็กวาด เพื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของผลงาน
                  - นำผลงานของเด็กแสดงไว้ที่ป้ายนิเทศเพื่อให้กำลังใจ
                  สิ่งที่กล่าวครูควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพัฒนาเด็กให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์คือการพัฒนาทั้งด้านกล้ามเนื้อมือ ความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา อารมณ์ จิตใจ สังคม และความคิดสร้างสรรค์
                 
   

2555/05/27

พัฒนาอารมณ์ จิตใจด้วยกิจกรรมศิลปะ

                    กิจกรรมศิลปะเป็นสิ่งมีความสำคัญและมีค่ายิ่งต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆ อย่างเช่นทำให้เด็กได้พัฒนาด้านอารมณ์ จิตใจซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์เรา การทำกิจกรรมนี้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเพราะเด็กวัยนี้ชอบอิสระ ชอบเล่น ชอบแสดงออก ชอบริเริ่มสร้างสรรค์  การทำงานศิลปะของเด็กจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเด็กเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กได้แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึก จินตนาการ และการที่เด็กได้แสดงออกที่งานศิลปะนี้เกิดผลในทางอารมณ์ จิตใจของเด็กดังนี้
                                                   - เด็กมีความรู้สึกปลอดภัย
                                                   - เด็กมีความมั่นใจ
                                                   - เด็กมีอารมณ์ดี
                                                   - เด็กมีสมาธิเพิ่มขึ้น
                     ดังนั้นครูปฐมวัย ผู้ปกครองของเด็กควรให้ความสำคัญและส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมศิลปะ ตลอดจนคอยดูแลช่วยเหลือเด็กเมื่่อเด็กต้องการ
    
    

2555/05/07

การประเมินผลงานกิจกรรมสร้างสรรค์

           กิจกรรมสร้างสรรค์หรือกิจกรรมศิลปะนั้น ในการประเมินผลงานส่วนใหญ่ใช้การสังเกตในเรื่องความสามารถของเด็กปฐมวัยดังนี้
          - การควบคุมกล้ามเนื้อเล็ก-ใหญ่ และประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา โดยดูการจับแท่งสี การใช้พู่กัน การปั้น ว่าทำได้ตามที่เด็กต้องการหรือไม่ การบังคับมือเป็นอย่างไร
          - ภาพวาดของเด็กเหมาะสมกับวัยหรือไม่
          - ลักษณะภาพมีความแปลกใหม่กว่าเดิมหรือไม่ เพื่อดูในแง่ของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
          - การทำงานร่วมกับเพื่อน ความเสียสละ การแบ่งปัน การรอคอย ขณะทำงานและมีการแก้ปัญหาการทำงาน
          การประเมินผลงานที่ได้จากกิจกรรมสร้างสรรค์นั้นแตกต่างจากการประเมินผลงานด้านทักษะวิชาการอื่นๆ เพราะการประเมินนี้เป็นกระบวนการ วิธีการหรือสิ่งที่ได้จากกระบวนการ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ครูปฐมวัยจะต้องทำความเข้าใจการพัฒนาการของเด็กจากการทำงานศิลปะ

2555/04/25

การปฏิบัติการทดลองสำหรับเด็กปฐมวัย

                 การปฏิบัติการทดลองที่จัดให้เด็กปฐมวัยได้ปฏิบัตินั้น เป็นกิจกรรมที่จัดเพื่อจุดประสงค์ให้เด็กได้ลงมือทำหรือปฏิบัติด้วยตนเอง และเกิดการค้นพบด้วยตนเอง ภายใต้การดูแลแนะนำของครู โดยครูจะต้องจัดให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสกระทำอย่างทั่วถึง ซึ่งการจัดประสบการณ์ลักษณะนี้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งสำคัญเป็นการเน้นการให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ การมองเห็น การได้สัมผัส การชิมรส การดมกลิ่น และการฟัง นอกจากนั้นยังเป็นการพัฒนาด้านสังคม ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน ความเป็นระเบียบในการทำงาน และเด็กปฐมวัยได้ฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกต การคิดหาเหตุผล การคิดแก้ปัญหา เป็นต้น

2555/04/16

วิธีการใช้คำถามสำหรับเด็กเล็ก

                   การใช้คำถามกับเด็กเล็กมีความสำคัญและมีประโยชน์ในการพัฒนาเด็ก การตั้งคำถามให้เด็กคิดตอบจะเป็นการฝึกให้เด็กคิดเป็นอย่างดี หรือการที่ครูให้เด็กตั้งคำถามก็เป็นการช่วยทักษะการคิดและการสังเกตของเด็กด้วย วิธีการการใช้คำถามจึงเป็นเรื่องที่ครูหรือผู้ปกครองควรได้ทราบและใช้ให้เหมาะสม อย่างการใช้คำถามที่เปิดกว้าง สามารถตอบได้หลายคำตอบ เช่น
                  - เราใช้เชือกทำอะไรได้บ้าง
                  - ทำไมเราจึงต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย
                  - ข้าวสารต่างกับข้าวเหนียวอย่างไร
                  คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่สามารถช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพราะเด็กได้ฝึกคิดอย่างคล่องแคล่ว หลายทิศทางและคิดในสิ่งที่แปลกๆใหม่ๆ คำตอบเหล่านี้ไม่มีผิดแต่จะช่วยให้เด็กได้ฝึกฝนการคิดอย่างสนุกสนาน และมีความเชื่อมั่นในตนเอง สำหรับวิธีการใช้คำถามสามารถแทรกในกิจกรรมต่างๆ ได้ตามความเหมาะสม ถ้าเป็นครูอาจจัดกิจกรรมในช่วงที่เป็นกิจกรรมขั้นนำหรือท้ายกิจกรรมก็ได้

2555/04/10

กิจกรรมเล่นตามมุม:มุมศิลปะ

                      กิจกรรมในมุมศิลปะสามารถพัฒนาเด็กได้หลายด้าน เช่น ด้านความพร้อมของกล้ามเนื้อนิ้วมือ ซึ่งจะช่วยให้มือของเด็กพร้อมที่จะจับดินสอเขียนหนังสือได้เมื่อเด็กเรียนในชั้นประถมศึกษา นอกจากนั้นช่วยพัฒนาทั้งด้านอารมณ์ สังคม เมื่อเด็กทำงานเป็นกลุ่มก็เปิดโอกาสให้เด็กได้ปรับตัวเข้ากับเพื่อน ฝึกให้เด็กได้ใช้จินตนาการซึ่งจะช่วยพัฒนาสติปัญญา
                     สำหรับอุปกรณ์ที่จัดในมุมนี้ ได้แก่ สีเทียน สีฝุ่่น หรือสีที่ได้จากใย ดอกหรือผลของพืช พู่กัน หรือสิ่งทดแทน เช่น ก้านหมากทุบ กากอ้อย ฯลฯ ดินเหนียวหรือดินน้ำมัน กาว กระดาษ โต๊ะที่สูงพอเหมาะ ควรจัดวัสดุที่เด็กจะใช้งานไว้กลางโต๊ะเพื่อสะดวกในการหยิบใช้ และควรมีที่สำหรับผึ่งกางผลงานเด็กที่ยังไม่แห้ง ครูจึงมีความสำคัญในการวางแผนจัดกิจกรรม สื่ออุปกรณ์ และการวัดประเมินผลพฤติกรรมของเด็กขณะที่เด็กทำกิจกรรมในมุมศิลปะ

2555/04/08

ประโยชน์ของการประกอบอาหารในเด็กปฐมวัย

                         กิจกรรมประกอบอาหารเป็นกิจกรรมที่จัดให้กับเด็กปฐมวัย จุดประสงค์สำคัญไม่ได้มีขึ้นเพื่อผลของงานคืออาหารที่ทำเสร็จ แต่จัดขึ้นเพื่อให้เด็กได้เกิดความสนุกสนาน เร้าความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย เน้นกระบวนการระหว่างการทำกิจกรรมเป็นสำคัญ เน้นให้เด็กเกิดประสบการณ์การเรียนรู้จากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ให้เด็กได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังปลูกฝังให้เด็กมีสุขนิสัยที่ดี มีมารยาทที่ดีในการรับประทานอาหาร การประหยัด ความสะอาด รวมถึงการสร้างนิสัยรักการทำงาน ส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา ฝึกการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น ไข่ดิบกับไข่ที่สุกแล้ว ลักษณะของผักสดกับผักที่โดนความร้อน และที่สำคัญฝึกการติดตามขั้นตอนต่างๆและมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนเกิดเป็นผลงาน เด็กได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำได้มาจากไหน หรือได้มาอย่างไร  

2555/04/06

คุณค่าของกิจกรรมการศึกษานอกสถานที่

              การศึกษานอกสถานที่หรือกิจกรรมทัศนศึกษา เป็นการพานักเรียนไปศึกษานอกสถานที่ซึ่งในเด็กปฐมวัยเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งพอจะกล่าวได้คือ
              - เด็กส่ามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ท่ี่ตนเองได้ศึกษา และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง
              - เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
              - เด็กได้เข้าใจเรื่องที่ศึกษาอย่างถ่องแท้
              - เด็กได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน กระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรม
              - ส่งเสริมการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยใช้ประสาทสัมผัส
              - ส่งเสริมเจตคติที่ดีแก่นักเรียนในด้านต่างๆ เช่น อนุรักษ์ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม
              - ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม เช่น การรอคอย ระเบียบวินัย
              - เป็นการสร้างความสัมพันธ์ชุมชน
              ดังนั้นครูปฐมวัยควรที่จะวางแผนและกำหนดการจัดกิจกรรมการศึกษานอกสถานที่อย่างเหมาะสมเพื่อพัฒนาเด็กให้เด็กศักยภาพ
             

2555/03/26

กิจกรรมศิลปะ:การศึกษาวอลดอร์ฟที่ร.ร.บ้านหนองขาม

            ครูต้าหรืออ.ปณิตา ศิลารักษ์ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแนววอลดอร์ฟให้กับเด็กอนุบาลที่โรงเรียนบ้านหนองขาม สังกัดสพป.ราชบุรี 1 โดยคำนึงถึงความพร้อมของเด็กในทุกๆด้าน จึงได้เตรียมความพร้อมให้กับเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา กิจกรรมต่างๆมีความสมดุลกันระหว่างสมอง  ความรู้สึก และการลงมือกระทำ ที่นี่โรงเรียนเปรียบเสมือนเป็นบ้านสำหรับพวกเด็กๆทุกคน ครูคือผู้คอยดูแล ส่งเสริมสนับสนุนและคอยให้บริการแก่เด็ก การเรียนรู้ที่ครูต้าจัดให้กับเด็กเป็นการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่มีความเป็นอิสระ โดยให้เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การลงมือทำ อย่างเช่นการทำกิจกรรมศิลปะของเด็กโรงเรียนบ้านหนองขามที่ได้ทำกันนั้น เป็นกิจกรรมศิลปะที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตท้องถิ่นของเด็ก เด็กได้ออกเดินทางไปวาดภาพในหมู่บ้าน ได้สัมผัสกับบรรยากาศในหมู่บ้าน หรือวัด คือเป็นวิถึชีวิตของเด็กที่เขาคุ้นเคย สิ่งเหล่านี้มีคุณค่าอย่างยิ่ง เพราะบรรยากาศดังกล่าวเป็นการพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก ในปัจจุบันนี้เราดูเหมือนว่าจะพัฒนาเด็กให้ออกไปจากธรรมชาติ
แต่ที่โรงเรียนนี้พยายามจะนำกลับมาสู่โรงเรียนบ้านหนองขามโดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย

2555/03/21

ครู นักเรียนในห้องเรียนมอนเตสซอรีที่อนุบาลวัดเพลง

                       โรงเรียนอนุบาลวัดเพลง สังกัดสพป.ราชบุรีเขต.1 มีอาจารย์กรรณิกา กระกรกุล ซึ่งเป็นครูในชั้นอนุบาล ได้ผ่านการอบรมการเรียนการสอนแบบมอนเตสซอรีของ AMI และดูงานการเรียนการสอนที่ออสเตรเลีย อาจารย์กรรณิกา ได้นำการเรียนการสอนดังกล่าวมาจัดประสบการณ์ให้กับเด็กที่นี่ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 ปัจจุบันหากเราเข้าไปสัมผัสในห้องเรียนจะได้เห็นเด็กๆ มีอิสระในการปฏิสัมพันธ์กันอย่างกลมกลืนไม่ว่าระหว่างเพื่อน หรือกับครู เด็กแต่ละคนจะเข้าไปเรียนรู้กับอุปกรณ์ที่ครูจัดไว้อย่างเป็นระบบ ตามลำดับอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประสาทสัมผัส กลุ่มชีวิตประจำวัน กลุ่มวิชาการในด้านภาษาหรือคณิตศาสตร์ จะได้เห็นการสาธิตการใช้อุปกรณ์ คือเมื่อเด็กมีความสนใจในอุปกรณ์ชิ้นใด เด็กจะบอกให้ครูทราบ เราก็จะเห็นอาจารย์กรรณิกา สาธิตอูปกรณ์ให้เด็กดูอย่างมีขั้นตอน เป็นระบบ ส่วนเด็กก็จะสังเกต ตั้งแต่การที่ครูหยิบอุปกรณ์ บอกชื่ออุปกรณ์ สาธิตการทำงาน และสุดท้ายการเก็บอุปกรณ์คืนที่เดิม เมื่อครูสาธิตเสร็จเด็กก็สามารถทำงานหรือเรียนรู้จากอุปกรณ์นั้นๆได้เอง ส่วนครูจะคอยแนะนำและอำนวยความสะดวกให้กับเด็กตลอดเวลา เพื่อคอยช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อเด็กต้องการ ในระหว่างทำงานกับอุปกรณ์ ครูจะคอยสังเกตการทำงานของเด็กแต่ละคน ดังนั้นเราจึงได้เห็นการพัฒนาเด็กเพื่อให้เด็กมีความพร้อมในทุกด้านอย่างมีคุณภาพอย่างน่ามหัศจรรย์โดยเฉพาะในเรื่องความมีสมาธิ และการมีวินัยในตนเอง

2555/03/19

การมีวินัย:การจัดกิจกรรมและสิ่งแวดล้อม

                       การพูดถึงการมีวินัยเป็นสิ่งที่ต้องเสริมสร้างกันตั้งแต่เด็กปฐมวัย และเป็นภาระหน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ซึ่งเป็นครูปฐมวัย และพ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องร่วมมือกันอบรมเลี้ยงดูให้เด็กมีวินัย
โดยเริ่มจากวินัยในตนเอง ให้เด็กได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สิ่งสำคัญของการให้เด็กมีวินัยจะต้องจัดกิจกรรมและจัดสิ่งแวดล้อมดังนี้
                      - เด็กเรียนรู้การมีวินัยจากการชมเชยของผู้ใหญ่ การให้รางวัลมากกว่าการลงโทษ
                      - ผู้ใหญ่ควรใช้วิธีจูงใจมากกว่าการบังคับ
                      - ให้เวลา และเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง
                      - จัดกิจกรรมที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กทั้งที่อยู่บ้าน และโรงเรียน
                      - ฝึกให้เด็กได้เรียนรู้ระเบียบวินัยในชีวิตประจำวัน และทำซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง
                      - สร้างหรือจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีและเอื่้อต่อการฝึกวินัยให้กับเด็ก
                      ความมีระเบียบวินัยเป็นสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก หากผู้ใหญ่ให้ความสนใจและมีความตระหนักที่จะปลูกฝังตั้งแต่เด็กแล้ว เด็กก็จะโตขึ้นเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

2555/03/13

เด็กเล็กกับเทคโนโลยี

       ปัจจุบันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะเกิดการเพิ่มขึ้น และมีความสำคัญซึ่งคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจะทำอย่างไรให้เด็กเล็กอยู่ในโลกของสิ่งแวดล้อมที่มีเทคโนโลยีอย่างมีความสุขและรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่อย่างปฏิเสธไม่ได้เลย
เด็กเล็กต้องการคำแนะนำอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กลองผิดลองถูกเอง ซึ่งจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องทำคือ
       - อย่าปล่อยให้เด็กอยู่กับคอมพิวเตอร์โดยไม่มีคำแนะนำและปราศจากการดูแล
       - ไม่ควรให้เด็กเริ่มเล่นเกมเร็วเกินไป ควรชะลอให้นานที่สุด ผู้ใหญ่ต้องมีความรู้เรื่องเกม ควบคุมเวลาการเล่นอย่างเข้มงวด ละเว้นเกมที่มีความรุนแรง
       ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ในการที่จะให้เด็กเล็กใช้สื่อที่เป็นเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม เพราะเด็กจำเป็นที่จะต้องได้รับการจัดประสบการณ์ที่หลากหลายและสมดุล ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กอยู่กับคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีเป็นส่วนใหญ๋

2555/03/02

เกมคณิตศาสตร์กับเด็กปฐมวัย

                   การให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถทางคณิตศาตร์เมื่อโตขึ้นนั้น จำเป็นจะต้องได้รับการปลูกฝังในเรื่องของคณิตศาสตร์อย่างถูกต้อง เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยนั้นเด็กเรียนรู้จากการเล่นหรือการลงมือปฏิบัติกิจกรรม การให้เด็กมีความสามารถทางคณิตศาสตร์จะต้องเริ่มด้วยการจัดในรูปของกิจกรรม ซึ่งไม่มุ่งเน้นเนื้อหาของคณิตศาสตร์อย่างเป็นทางการ เกมคณิตศาสตร์จึงเหมาะสมกับเด็กในวัยนี้ เพราะเป็นการจัดกิจกรรมที่มีหรือแทรกเนื้อหาทางคณิตศาสตร์พร้อมกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน  วิธีการเล่นมีกติกาที่ง่ายๆ มีสื่อ วัสดุประกอบการเล่นที่ทำให้กิจกรรมน่าสนใจและมีความเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ และพัฒนาในเรื่องของจำนวน เป็นต้น เกมที่เล่นครูอาจจัดให้เด็กเล่นเป็นรายบุคคล เล่นเป็นกลุ่มย่อย เล่นเป็นกลุ่มใหญ่ หรือเกมที่เด็กทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม แม้เต่เกมที่มีการแข่งขันซึ่งในเด็กปฐมวัยจะไม่เน้นการแพ้ชนะกันมากนัก ดังนั้นเกมคณิตศาสตร์จึงมีคุณค่าต่อเด็กคือทำให้เด็กมีความสนุกสนาน มีโอกาสฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ เข้าใจเนื้อหาของคณิตศาสตร์ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

2555/02/20

การจัดประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์

                               การจะทำให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถทางคณิตศาสตร์นั้น พ่อแม่ ครู ผู้ปกครองมีความจำเป็นต้องเข้าใจวิธีการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสม ไม่ใช่การทำให้เด็กสามารถบวก ลบตามวิธี
ทำหรือมีตัวอย่างแล้วทำตามตัวอย่างได้ถือว่าเด็กเรียนคณิตศาสตร์ได้เก่ง ดังนั้นครูปฐมวัยควรรู้และจัด
ประสบการณ์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ให้เหมาะสมกับเด็ก ทั้งเนื้อหา สื่อ เวลา สถานที่และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะรูปแบบของการจัดประสบการณ์คณิตศาสตร์นั้น เด็กต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ใช้สื่อของจริง สื่อที่เป็นรูปภาพประกอบการเรียนรู้ แล้วจัดประสบการณ์ให้เด็กได้ใช้การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดกลุ่ม การจำแนก การคาดคะเน การตั้งสมมติฐาน การตั้งคำถาม การอภิปราย การให้เหตุผล โดยครูจะต้องมีการสังเกต เก็บข้อมูล การบันทึก ให้โอกาสเด็กได้คิด ครูจะต้องรอคอย การเรียนรู้คณิตศาสตร์ไม่ใช่เกิดจากการบอกของครู แต่เด็กจะต้องเรียนรู้ด้วยตนเองมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือและสนับสนุน การเรียนคณิตศาสตร์จึงจะเกิดด้วยความเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่การจำจากการบอกเล่าของครู

2555/02/13

เรียนอ่านเขียนภาษาไทยด้วยกิจกรรม

             การเรียนเขียนอ่านภาษาไทยในเด็กปฐมวัยควรเป็นการเรียนรู้ที่ผู้ใหญ่จัดกิจกรรมที่ไม่เคร่งเครียด และขณะเดียวกันเมื่อเด็กทำกิจกรรมก็ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินควบคู่ไปด้วย กิจกรรมที่จัดให้กับเด็กมีดังนี้
             - อ่านหนังสือให้เด็กฟัง
             - ครูอ่านกับเด็ก
             - ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง- คำกลอน
             - เล่นเกมตัวหนังสือ พยัญชนะ สระ เป็นต้น
             - เล่านิทานให้เด็กฟัง
             - เกมภาษา
            การจัดการเรียนรู้หรือประสบการณ์ดังกล่าวจะทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางภาษาอย่างไม่รู้ตัว มีความประทับใจหรือมีเจตคติที่ดีต่อภาษาไทยว่าเป็นสิ่งที่ีไม่ยาก และทำให้เกิดความสนุกสนานด้วย และที่สำคัญอย่าทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าเป็นปมด้อยในการเรียนภาษาไทย       

2555/02/06

ความอดทนเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มส่งเสริมและสนับสนุนตั้งแต่เด็ก

                    การอบรมเลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนที่มีคุณภาพต้องพร้อมไปด้วยการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาทางอารมณ์-จิตใจในเด็กปฐมวัยต้องเริ่มตั้งแต่เด็กไม่ใช่โตแล้วค่อยสอน เด็กจะต้องเรียนรู้ในการควบคุมอารมณ์และรู้อารมณ์ของตนเองเป็นสิ่งแรก ดังนั้นพฤติกรรมที่สำคัญสำหรับเด็กคือการฝึกให้เด็กรู้จักการรอคอย มีความอดทน โดยสามารถฝึกได้ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การขับถ่าย การทำความสะอาดร่างกาย การนอนให้เป็นเวลา การทำกิจวัตรประจำวันต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญและเป็นพื้นฐานของการมีความอดทน การรอคอยเพราะมนุษย์เราเริ่มต้นตั้งแต่การกินอยู่ การเรียน การทำงาน การอยู่ร่วมกันในสังคม ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าสิ่งดังกล่าวไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ให้ความสำคัญกับการที่เด็กจะต้องฉลาด เรียนรู้วิชาการต่างๆก่อน ต้องเก่งภาษาอังกฤษซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน ถ้าเข้าใจเช่นนี้แล้ว เด็กก็จะเสียโอกาสในการพัฒนาไปเมือเติบโตเป็นผู้ใหญ่ชีวิตก็ยากที่จะพัฒนาได้ เพราะเด็กเล็กๆต้องเริ่มให้มีพฤติกรรมด้านความอดทนเพื่อเป็นรากฐานของชีวิตก่อน ชีวิตจึงจะพัฒนาได้

2555/01/30

อะไรคืออุปสรรคต่อการเรียนรู้ของเด็ก

                         เด็กจะเกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเด็กในการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและระวังเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องไม่ให้เกิดมีดังนี้
                        - เสียงที่อึกทึก เสียงดนตรีที่มีจังหวะเร็วๆ
                        - การให้เด็กนั่งอยู่เฉยๆ โดยให้ฟังแต่ผู้ใหญ่พูดหรือบอก
                        - การสร้างความเครียดให้เกิดกับเด็กอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าการเร่งรีบ การให้เด็กเรียนให้เก่ง
การกวดขันในการเรียน การแข่งขันที่ต้องชนะ
                        - การเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากเกินไป
                        - การลงโทษ การติเตียน
                        - การให้อยู่แต่ในห้องเรียน หรืออยู่แต่ในบ้าน
                        สิ่งที่กล่าวข้างต้นจะเป็นการลดการเรียนรู้ของเด็ก เราจึงจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงและพยายามไม่ให้เกิด ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเพิ่มสิ่งที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กต่อไป
                       

2555/01/15

การเล่นสร้างเสริมพื้นฐานให้กับชีวิตเด็ก

                  เราคงไม่ปฏิเสธว่าการเล่นในเด็กปฐมวัยเป็นการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่บางคนถ้าไม่เข้าใจแล้วจะเห็นว่าการเล่นทำให้เสียเวลาในการเรียนรู้หรือการเรียน ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี ยิ่งปัจจุบันเราส่วนใหญ่เน้นในเรื่องของความเป็นเลิศทางวิชาการ พ่อแม่ ผู้ปกครองจะให้ลูกหลานกวดวิชาตั้งแต่ในระดับอนุบาลเสียด้วยซ้ำ เด็กจึงไม่มีเวลาในการเล่น เอาเวลาไปเรียนวิชาการหรือกวดวิชาอย่างเอาเป็นเอาตายหรืออย่างเป็นทางการตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ เด็กจึงเป็นผู้ที่น่าสงสาร มีงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับประโยชน์ของการเล่น ประการแรกคือช่่วยพัฒนาด้านกายภาพ การเล่นทำให้เด็กได้พัฒนาความแข็งแรงของร่างกาย ความเจริญเติบโต ด้านอารมณ์-จิตใจ ทำให้เด็กได้เกิดคุณธรรมด้านความอดทนรอคอย
ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การมีระเบียบวินัย ความโอบอ้อมอารี ด้านสังคมได้เรียนรู้ในเรื่องการต้องเข้าคิว
การรู้ลำดับก่อน-หลัง และด้านสติปัญญการเล่นทำให้เด็กได้เกิดจินตนาในการเล่น ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาในการเล่นเมื่อเกิดขึ้นก่อนเล่น ขณะเล่นและหลังการเล่น เป็นต้น ดังนั้นการเล่นของเด็กมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ผู้ใหญ่ไม่ว่าครู พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเป็นผู้ที่คอยจัดการให้เด็กได้เล่นอย่างสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กของเรา

2555/01/05

เสียงกับการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย

           เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากการได้ฝึกประสาทสัมผัสทั้ง5 ไม่ว่าการให้เด็กได้ใช้การฟังจากการใช้หู หรือการใช้ตา จมูก หรือแม้แต่ปาก เป็นต้น การที่เด็กได้ฟังเสียงต่างๆในชีวิตประจำวันเด็กก็จะได้เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เสียงนั้นไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง ที่มีความนุ่มนวลอ่อนโยน แผ่วเบา มีจังหวะในลักษณะต่างๆ จะทำให้เด็กมีความรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย  เสียงเพลงที่เป็นดนตรีไทย มีจังหวะกและทำนองที่ละเอียดอ่อน ละมุนละไม จะช่วยสร้างความรู้สึกสงบ เสียงดนตรีคลาสสิกซึ่งมีงานวิจัยหลายๆชิ้น แสดงถึงประโยชน์ที่กล่าวว่าดนตรีคลาสสิกเป็นเสียงดนตรีที่มีคลื่นเสียงที่เป็นระเบียบ ทำให้เด็กได้รับการผ่อนคลาย ที่สำคัญสมองส่วนการรับรู้เกิดการรับ-ส่ง และเชื่อมโยงเซลล์สมองที่แตกตัวมากขึ้น สมองจึงเปิดรับสิ่งต่างๆได้เป็นอย่างดี  สำหรับเสียงธรรมชาติต่างๆไม่ว่าจะเป็นเสียงลม เสียงเครื่องยนต์ เสียงน้ำ เสียงเคาะวัตถุต่าง เสียงร้องของสัตว์ ฯลฯ เสียงเหล่านี้สามารถนำมาจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย โดยครูสามารถนำเสียงต่างๆมาเพิ่มประสบการณ์  สะสมข้อมูลในการฟัง เพิ่มทักษะในการสื่อสารซึ่งเป็นการพัฒนาภาษาให้กับเด็กได้ในที่สุด

2555/01/04

การเตรียมกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย

             การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์หรือการจัดกิจกรรมศิลปะให้กับเด็กเล็กๆนั้น สิ่งสำคัญที่ครูควรคำนึงอยู่เสมอคือการเปิดโอกาสให้เด็กมีอิสระในการค้นคว้า ทดลอง และสามารถสื่อสารสิ่งที่เด็กทดลอง
ให้กับผู้อื่นได้เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ นอกจากนั้นกิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก กล้ามเนื้อใหญ่ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ดังนั้นก่อนจัดกิจกรรมต้องเตรียมหรือปูพื้นฐานให้กับเด็กได้มองเห็นความสวยงามทางศิลปะซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้
            -ให้เด็กช่วยกันจัดแจกัน  -ให้เด็กช่วยกันจัดมุมต่างๆในห้องให้สวยงาม
            -ฝึกให้เด็กได้สังเกตรูปทรงรอบๆตัว -ให้เด็กได้สัมผัสสิ่งต่างๆที่มีรูปร่างเหมือนกันหรือต่างกัน
            -เด็กและครูช่วยกันจัดหาสิ่งประดิษฐ์สำเร็จรูปมาตกแต่งห้อง
            -เด็กและครูช่วยกันสะสมภาพต่างๆที่สวยงาม เพือประโยชน์ในการตกแต่งห้อง การเก็บเพื่อเอาไว้ดู
            -ให้เด็กได้มีโอกาสไปชมการแสดงภาพเขียนหรือการแสดงสิ่งประดิษฐ์ต่่างๆ
            ดังนั้นเพื่อประโยชน์สำหรับเด็กหรือการพัฒนาเด็กด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์ดังกล่าวครูปฐมวัยจะต้องมีการเตรียมและวางแผนเพื่อเด็กของเรา