2557/12/31

ประสบการณ์ทางสังคมที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย

             ประสบการณ์ทางสังคมที่มีความสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยหรือที่เรียกว่าเป็นประสบการณ์สำคัญและมีความจำเป็นในการพัฒนาการด้านสังคมซึ่งต้องให้เด็กได้รับการพัฒนา เพื่อจะได้เติบโตอย่างมีคุณภาพและอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเอื้ออาทร สังคมมีความสงบสุข ได้แก่
            - การปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของตนเอง
            - การเล่นและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
            - การวางแผนและตัดสินใจเลือก และลงมือปฏิบัติ
            - การแก้ปัญหาในการเล่น
            - การมีประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเคารพความคิดเห็น
            - การมีโอกาสได้รับความรู้สึก ความสนใจ และความต้องการของตนเองและผู้อื่น
            - การมีประสบการณ์ทางวัฒนธรรมท้องถื่นและความเป็นไทย
            พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูจำเป็นต้องร่วมมือกันในการปลูกฝังและส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้รับประสบการณ์ดังกล่าว รวมทั้งการจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม


การเรียนรู้และการฝึกทักษะการจัดประเภทในเด็กปฐมวัย

              การให้เด็กปฐมวัยได้เรียนรู้หรือฝึกให้เกิดทักษะการจัดประเภทนั้นสามารถฝึกได้ตั้งแต่เด็กๆ เพราะทักษะการจัดประเภทคือการให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเหมือนและความต่างของสิ่งต่างๆ ซึ่งสามารถฝึกได้ กิจกรรมหรือคำถามที่ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะดังกล่าวมีดังนี้
              - เอาของหลายชนิดมารวมกันแล้วให้เด็กแยกเป็นประเภทต่างๆ อาจแยกตามสี ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ฯลฯ
              - ให้เรียงลำดับจากคนที่่เตี้ยสุดไปหาคนที่สูงที่สุด
              - ให้แบ่งภาพสัตว์ที่ครูแจกออกเป็น 2 กลุ่มโดยใช้จำนวนขา ฯลฯ
              - ทำไมจึงแบ่งหินกลุ่มนี้ออกจากหินกลุ่มนั้น
              - ทำไมจึงจัดพืชจำพวกอ้อย ข้าว หญ้า อยู่ในพวกเดียวกัน
              - ทำไมจึงจัดแหวน สร้อยคอ ตุ้มหู เป็นพวกเดียวกัน
              ดังนั้นการฝึกทักษะการจัดประเภทจึงสามารถฝึกได้ง่ายๆตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูมีบทบาทสำคัญมากในการกระตุ้นและส่งเสริมสนับสนุนให้มีขึ้นได้

2557/11/30

ลักษณะสำคัญของเด็กปฐมวัยที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง

             ลักษณะสำคัญของเด็กปฐมวัยที่มีความเชื่่อมั่นในตนเอง จะปรากฏให้เห็นพฤติกรรมที่แสดงความเชื่่อมั่นซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้
             - สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้
             - มีความภูมิใจในตนเอง
             - กล้าแสดงออกและมีความเป็นตัวของตัวเองด้วยความกล้าพูดกล้าทำ กระตือรือร้นกับการทำกิจกรรม
             - ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
             - เป็นมิตรกับคนทั่วไป
             - เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม พร้อมที่จะเป็นผู้นำได้โดยไม่รีรอ
             - ขณะพูดมักประสานสายตากับผู้สนทนาด้วย
             พฤติกรรมที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถปลูกฝังให้เด็กได้ตั้งแต่ปฐมวัย โดยจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนในขณะที่เด็กทำกิจกรรมต่างๆทั้งที่บ้าน โรงเรียนและในสังคมที่แวดล้อมเด็ก

2557/10/31

คำถามหรือบทสนทนาขณะเล่านิทานให้เด็กฟัง

      การเล่านิทานให้เด็กฟังนั้น ในนิทานแต่ละเรื่องประกอบด้วยองค์ประกอบหรือสิ่งสำคัญต่างๆ เช่น เหตุการณ์หรือ
พล็อตเรื่องตัวละคร สถานที่ ระยะเวลาของเรื่อง และแก่นของเรื่อง เป็นต้น สำหรับคำถามที่ผู้ใหญ่ต้องตระหนักและนำไปปฏิบัติมีดังนี้
      - พล็อตเรื่องใช้คำถาม เช่น
             คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องเกี่่ยวกับอะไร
             ผู้เขียนได้เค้าเรื่องจากอะไร
             ชอบตอนไหนของเรื่อง
             ตอนไหนตื่นเต้น/สนุก
             รู้สึกอย่างไรกับตอนจบของเรื่อง
      - ตัวละคร ใช้คำถาม เช่น
             ชอบตัวละครไหน ไม่ชอบคนไหน เพราะอะไร
             เคยพบคนที่มีลักษณะเหมือนตัวละครในเรื่องไหน
     ดังนั้นการใช้คำถามประกอบการเล่านิทานให้เด็กฟังเป็นกิจกรรมที่สานต่อทำให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือและอยากที่จะอ่านได้เองในที่สุด

2557/09/22

คำถามเพื่อให้เด็กได้คิดค้นและขยายความคิด

             คำถามเพื่อให้เด็กปฐมวัยได้คิดค้นและขยายความคิดนั้นเป็นคำถามที่ซับซ้อนฝึกให้เด็กคิดในหลายลักษณะ เป็นคำถามที่ให้เด็กได้เปรียบเทียบ จำแนก ให้เด็กได้สรุป ได้ประเมินหรือตัดสินใจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่น
            - ทำไมนักเรียนจึงต้องข้ามถนนตรงทางม้าลาย(อธิบาย)
            - ข้าวสารกับข้าวเหนียวต่างกันอย่างไร(เปรียบเทียบ)
            - สิ่งของในภาพนี้มีอะไรบ้างที่รับประทานได้(จำแนก)
            - สิ่งของรอบตัวอะไรบ้างในห้องเรียนของเราที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมให้บอกมา 2 อย่าง(จำแนก)
            - ถ้าเชือกสีแดงยาวกว่าเชือกสีเขียว และเชือกสีเขียวยาวกว่าเชือกสีเหลือง เชือกสีไหนยาวที่สุด
              (สรุป)
            - นักเรียนจะใช้ดินสอสีแดงหรือสีเขียวระบายสีภาพนี้ (ตัดสินใจเลือกเอาอย่างใดอย่าง(ตัดสินใจเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง)
            ดังนั้นครูที่สอนปฐมวัย จึงควรฝึกทักษะในเรื่องของการตั้งคำถามประเภทที่เด็กจะต้องใช้ความคิดที่ซับซ้อนในการหาคำตอบ


2557/09/18

จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมบทบาทสมมติให้กับเด็กปฐมวัย

       กิจกรรมบทบาทสมมติเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางการพูด การแสดงท่าทางตามความคิดของเด็กอย่างอิสระในสถานการณ์หนึ่ง ไม่มีการซ้อมล่วงหน้า ใช้สื่ออุปกรณ์เท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น การแสดงบทบาทสมมติจะช่วยให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องที่จะเรียน จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมนี้เพื่อ
      - ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
      - ให้ได้เรียนรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
      - ช่วยให้ครูรู้ถึงความต้องการของเด็ก
      - ให้เด็กได้รู้จักคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจ
      - ส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก
      - ส่งเสริมการทำงานร่วมกับผู้อื่น
      - เพิ่มพูนทักษะทางภาษา
      - เด็กมีความเพลิดเพลิน และสนุกสนาน
      ดังนั้น การจัดกิจกรรมบทบาทสมมติเด็กจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก ผู้ใหญ่จะต้องคอยดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการพัฒนาตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

2557/09/05

วิธีง่ายๆในการปลูกฝังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้กับเด็กปฐมวัย

       ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก และจำเป็นที่ผู้ใหญ่ควรร่วมมือกันส่งเสริมสนับสนุนให้มีขึ้นให้ได้โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่จากแหล่งเรียนรู้ที่จัดให้กับเด็กอย่างหลากหลาย และผู้ใหญ่จะต้องระลึกเสมอว่าการให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆจะ
ต้องส่งเสริมให้เด็กได้มีความคิดสร้างสรรค์ดังนี้
      - ให้เวลากับเด็ก
      - ยอมรับความคิดของเด็ก แม้จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก
      - ให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เป็นกระบวนการผลิตมากกว่าผลผลิต
      - จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กได้ค้นหาและเล่นอย่างเหมาะสม
      - พยายามฝึกให้เด้กได้คิดแก้ปัญหาต่างๆโดยเริ่มจากเหตุการณ์ที่่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว
      - สิ่งที่เด็กทำไม่มีคำตอบเพียงคำตอบเดียว
      สิ่งที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ง่ายแต่เวลานำสู่การปฏิบัติแล้วค่อยข้างจะยากจึงอยู่ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูจะช่วยกันทำให้เกิดได้อย่างจริงจังต่อไป

2557/08/08

กิจกรรมหรือวิธีการที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาให้กับเด็กปฐมวัย

         การให้เด็กรักการเรียนรู้ภาษาควรส่งเสริมและสร้างความประทับใจกับการเรียนภาษาตั้งแต่เริ่มแรก ผู้ใหญ่สามารถนำวิธีการต่างๆ มาสร้างเสริมประสบการณ์ทางภาษาให้กับเด็กได้ดังนี้
        - การเล่านิทานหรือการอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังทุกวัน
        - การอ่านหนังสือร่วมกับเด็กและสนทนาพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเรื่องในหนังสือ
        - ฝึกการอ่านคำกลอน การท่องคำคล้องจอง
        - การใช้เกม/กิจกรรมในการให้เด็กได้คุ้นเคยกับตัวพยัญชนะ สระ
        - ฝึกให้คุ้นเคยกับหนังสือโดยจัดสภาพแวดล้องให้เด็กได้สัมผัสกับหนังสือ เช่น มุมหนังสือ
        - จัดกิจกรรมให้ทำหนังสือเล่มเล็ก บัตรอวยพรในเทศกาลต่างๆ
        กิจกรรมดังกล่าวถ้าเด็กได้ทำอย่างสม่ำเสมอ มีผู้ใหญ่คอยส่งเสริมและสนับสนุนแล้วเด็กจะมีการเกิดการเรียนรุ้ทางภาษาอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นพื้นฐานในการเรียนภาษาต่อไป

2557/08/04

สื่อและเครื่องเล่นในมุมบ้านหรือบทบาทสมมติ

                การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กเล็กๆ นั้น สื่อ เครื่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก สำหรับสื่อในมุมบ้านสามารถส่งเสริมและสนับสนุนประสบการณ์ให้กับเด็กได้อย่างหลากหลาย ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา สื่อ เครื่่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์มีดังนี้
               - เครื่่องแต่งกาย เครื่องประดับ  หมวกอาชีพต่างๆ ชุดเสื้อผ้าสตรี  รองเท้าประเภทต่างๆ เช่น ชุดเครื่องแบบต่างๆ เช่น หมอ พยาบาล ตำรวจ เป็นต้น
               - เครื่่องมือประกอบอาชีพต่างๆ เช่น เครื่องมือปฐมพยาบาล( หูฟังของหมอ ขวดน้ำเกลือ)  เครื่องมือประกอบอาชีพ(เครื่องมือทำสวน อุปกรณ์ในร้านเสริมสวย อุปกรณ์ในร้านค้า)
               - เครื่องเรือนจำลอง เช่น ชุดรับแขก โต๊ะเครื่องแป้ง เตียง หรือเปล
               - เครื่องใช้ในครัวที่เป็นของจริงขนาดเล็กหรือของจำลอง เช่น ใช้ประกอบอาหาร(กระทะ เตา หม้อ ครก เขียง มีด) ภาชนะใส่อาหาร(จาน ชาม ุถ้วย)
               - เครื่องใช้อื่นๆ เช่น โทรศัพท์  เตารีดพลาสติกหรือไม้ กระจกแต่งตัว
               การจัดหาสื่อ เครื่องเล่นและวัสดุดังกล่าว ผู้ใหญ่ควรจัดหาและเลือกสรรซึ่งบางอย่างอาจเป็นของจริงหรือของจำลอง แล้วแต่วัตถุประสงค์ ความมุ่งหมายหรือความเหมาะสม

2557/07/31

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย

           ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กควรร่วมมือกันที่จะทำให้เด็กมีคุณลักษณะสำคัญอย่างเช่น ความอดทน ความภูมิใจในตนเอง ความสนใจใฝ่รู้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดและมีความรู้ในเรื่องต่างๆดังนี้
          - การฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการลองผิดลองถูก ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังในตัวเด็กแต่ควรพอใจเมื่อเด็กสนใจในเรื่องรอบตัว รู้จักการตั้งคำถามต่างๆ
          - ปลูกฝังหรือสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กด้วยการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง
          - สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้โดยการจัดหาอุปกรณ์ ที่เหมาะสมและปลอดภัย พาไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
          - ปลูกฝังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ
          - ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลผลิต
          - ฝึกให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาต่างๆ โดยเริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน
          - ปลูกฝังความเป็นตัวตนของเด็ก โดยการให้เด็กได้ค้นพบตนเอง
          ถ้าผู้ใหญ่ได้เข้าใจและมีความรู้ดังกล่าวแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจะทำให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาอย่างมีคุณภาพต่อไป

2557/07/29

ประโยชน์ของการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย

                 การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สามารถจัดการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งทำให้เด็กได้รับการปลูกฝังการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่เล็กๆ โดยสามารถส่งเสริมให้เด็กสนใจ อยากรู้ สังเกต ทดลองและถามคำถาม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่สงสัยและเข้าใจโลกที่อยู่ การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์นี้ทำให้เด็กได้พัฒนาดังนี้
                - พัฒนาและส่งเสริมด้านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
                - เกิดความรู้พื้นฐานจากการไ้ด้สืบค้น
                - มีทักษะในการสังเกต
                - ได้ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับชีวิต
                - รู้จักวิธีการแก้ปัญหาโดยมีผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุน
                ดังนั้น การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์  หากเราส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัยเด็กก็จะมีพัฒนาและประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป

2557/07/21

เครื่องเล่นสนามที่ควรจัดให้กับเด็กปฐมวัย

        เครื่องเล่นสนามเป็นอุปกรณ์ที่จัดให้กับเด็กในการที่เด็กได้ไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อเด็กได้มีโอกาสออกกำลังกายและแสดงออกอย่างอิสระ การทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้เด็กได้พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา สำหรับเครื่องเล่นสนามเป้นเครื่องเล่นที่เด็กอาจปีน ป่าย หมุน โยก ฯลฯ จัดทำในรูปแบบต่างๆกันเพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อใหญ่ให้กับเด็ก เช่น
       - เครื่องเล่นสำหรับปีนป่าย เช่น โคม ตาข่าย สำหรับปีน ที่ปีนแบบโค้ง
       - เครื่องเล่นสำหรับโยกหรือไกว เช่น ม้าไม้ ชิงช้า ม้านั่งโยก
       - เครื่องเล่นสำหรับหมุน เช่น ม้าหมุน พวงมาลัยรถสำหรับหมุนเล่น
       - เครื่องเล่นลักษณะโหน เช่น บาร์โหน รางโหน  บาร์คู่ขนาดเล็กสำหรับเด็ก
       - เครื่องเล่นสำหรับไต่ เช่น ราวไต่หรือต้นไม้สำหรับหัดเดินทรงตัว
       - อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไม้ลื่น อุโมงค์ลอด
     ดังนั้นการจัดกิจกรรมกลางแจ้งโดยให้เด็กได้เล่นเครื่องเล่นสนามจึงมีความจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย หากผู้ใหญ่ไม่สามารถหาเครื่องเล่นดังที่กล่าวได้ ก็สามารถใช้วัสดุทดแทนได้อาจจะเป็นเชือกหรือขอนไม้ เป็นต้น

จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย

            ละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นกิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติโดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญในการพัฒนาเด็กเป็นสำคัญ ไม่มีผู้ชมที่เป็นทางการ เน้นกระบวนการในการพัฒนาเด็กระหว่างขั้นตอนต่างๆ เด็กๆจะสวมบทบาทดำเนินกิจกรรมตามเงื่อนไขที่วางไว้หรือบทบาทที่สมมติขึ้น ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความสมบูรณ์แบบของละคร มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้
          - พัฒนาด้านร่างกาย การเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ ลีลาท่าทางและการแสดงออก
          - ฝึกการใช้จินตนาการ
          - พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆต้องใช้ความคิดในขณะทำกิจกรรม
          - พัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกัน
          - พัฒนาภาษาด้วยการสื่อสารจากภาษาพูด
          - ฝึกการแสดงบทบาทสมมติในสถานการณ์ต่างๆ
          - ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ผ่านการละครที่เป็นไปโดยวิธีธรรมชาติ
          ฉะนั้นการใช้กิจกรรมละครสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยหลากหลายประการ แต่ก่อนที่จะให้เด็กได้แสดงละครนั้นครูจะต้องฝึกเด็กด้านทักษะต่างๆก่อนที่จะให้เด็กมีความพร้อมในการแสดง

2557/06/30

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมการปั้นให้กับเด็กปฐมวัย

                    การปั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งของกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูปฐมวัยจัดให้เด็กๆได้ทำกันนอกจากการระบายสี การฉีก การปะ การประดิษฐ์ ฯลฯ กิจกรรมนี้ทำให้เกิดพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กคือเด็กได้เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างการใช้มือให้สัมพันธ์กับตา
ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ดังนี้
                    - เด็กได้เรียนรู้โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เกิดความรู้สึกต่างๆจากการสัมผัส พัฒนาทักษะในการใช้มือ กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง ฯลฯ
                    - เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยการได้ปั้น โดยเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อฝ่ามือ ข้อมือและนิ้วมือในการบีบ ดึง นวด ทุบดิน ซึ่งส่งผลให้เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือ ข้อมือ และนิ้วมือ
                    - เด็กได้มีความสนุกสนานเพลิดเพลินโดยเด็กได้มีโอกาสเลือกทำกิจกรรมอย่างอิสระตามความสนใจและความต้องการของเด็ก ครูเป็นผู้แนะนำกิจกรรม แนะนำวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการทำกิจกรรม
                    - เด็กเกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเองและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
                    กิจกรรมการให้เด็กได้ปั้นจึงมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับเด็กปฐมวัยดังที่กล่าวข้างต้น

2557/06/27

ทำไมต้องจัดกิจกรรมกลางแจ้งให้กับเด็กปฐมวัย

               กิจกรรมกลางแจ้งเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวของร่างกายในสนาม หรือสถานที่โล่งแจ้ง หรือตามร่มไม้ หรือภายในอาคาร กิจกรรมดังกล่าวมีประโยชน์ต่อเด็กดังนี้
               - ส่งเสริมให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดี
               - เด็กได้มีการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็กให้สามารถเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว
               - พัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
               - ทำให้เกิดความสนุกสนาน เกิดการผ่อนคลายความเครียด
               - ส่งเสริมการปรับตัวในการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น
               - ได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การสังเกต การเปรียบเทียบ ฯลฯ
               - พัฒนาความมีระเบียบวินัย เคารกฎ กติกา
               - ปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการรักษาความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น
              กิจกรรมกลางแจ้งจึงเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ในการพัฒนาเด็กให้มีการพัฒนาทั้งสี่ด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา

2557/06/26

เรียนรู้ได้จากประสาทสัมผัสทั้งห้า

                       เด็กปฐมวัยเรียนรู้และได้ประสบการณ์ต่างๆจากประสาทสัมผัสทั้งห้า ซึ่งเป็นการรับรู้ทางกายของเด็กเองจากอวัยวะของเด็กคือตา หู จมูก ปากและกายไม่ว่าจะเป็นประสาทสัมผัสทางการมองเห็น ประสาทสัมผัสทางการได้ยิน ประสาทสัมผัสการรับรส ประสาทสัมผัสทางกลิ่น  และประสาทสัมผัสทางกาย พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครูปฐมวัยสามารถจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์เพื่อการฝึกประสาทสัมผัสทั้งเมื่ออยู่ที่บ้านและโรงเรียน อย่างเช่นการฝึกประสาทสัมผัสทางการมองเห็นมีดังนี้
                      - ลองใช้ผ้าปิดตาแล้วให้เด็กคลำใบหน้าเพื่อนและให้ทายว่าคนที่เด็กกำลังคลำใบหน้าอยู่นั้นเป็นใคร
                      - ให้เด็กเอามือคลำสิ่งที่อยู่ในกล่องว่ามีอะไรบ้างโดยการปิดตาเด็ก
                      - ให้เด็กวาดภาพในขณะที่ปิดตาและในขณะที่ไม่มีอะไรปิดตาซึ่งเด็กสามารถทำอะไรได้บ้าง
                      - พาเด็กเข้าไปในห้องมืดโดยไม่เปิดไฟและเปรียบเทียบกับเมื่อเปิดไฟแล้วให้เด็กบอกว่าได้เห็นอะไรบ้างที่แตกต่างกัน
                      การฝึกประสาทสัมผัสทางการมองเห็นดังกล่าวนี้เป็นกิจกรรมง่ายๆที่ผู้ใหญ่สามารถที่จะฝึกให้กับเด็กได้เสมอเพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณค่า

2557/06/03

สื่อและอุปกรณ์ในมุมบ้าน

           สื่อและอุปกรณ์ที่จัดให้กับเด็กนั้นสามารถส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้นทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงและมีความสนุกสนานเพลิดเพลิน สำหรับมุมบ้านเป็นมุมที่เด็กๆชอบมากซึ่งสามารถจัดอุปกรณ์และสื่อได้ดังนี้
           - เครื่องแต่งบ้านจำลอง เช่น ชุดรับแขก หมอนอิง กระจกขนาดเห็นเต็มตัว หวี ฯลฯ
           - เครื่องแต่งกายบุคคลอาชีพต่างๆ ที่ใช้แล้ว เช่น ชุดทหาร ตำรวจ รองเท้า กระเป๋าถือ ฯลฯ
           - ของเล่นเครื่องใช้ในครัวขนาดเล็กหรือจำลอง เช่น เตา กะทะ ครก กาน้ำ เขียง มีดพลาสติก หม้อ จาน ช้อน ถ้วยชาม กะละมัง ฯลฯ
           - เครื่องเล่นตุ๊กตา เสื้อผ้าตุ๊กตา ตุ๊กตา เปล เตียง ฯลฯ
           - โทรศัพท์ เตารีดจำลอง ที่รีดผ้าจำลอง
           สื่อต่างๆเหล่านี้จะทำให้เด็กได้มีพัฒนาการจากการได้เล่น ได้สัมผัสและเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าของเด็ก ดังนั้นการจัดหาและเตรียมสื่อให้กับเด็กจึงมีความจำเป็นและความสำคัญอย่างยิ่ง

2557/05/25

ฝึกการมีวินัยในตนเองให้กับเด็กปฐมวัย

        การมีวินัยในตนเองเป็นพฤติกรรมที่เด็กสามารถควบคุมพฤติกรรมและอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและปฏิบัติตนอย่างมีเหตุผล เด็กปฐมวัยสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องพฤติกรรมที่สามารถฝึกได้มีดังนี้
       - หยุดเล่นหรือทำกิจกรรมทันทีที่ได้ยินสัญญาณหมดเวลา
       - ทำกิจกรรมเสร็จภายในเวลาที่กำหนด
       - ทำกิจกรรมแต่ละขั้นตอนตามกำหนดเวลา และข้อตกลง
       - เก็บสื่อ อุปกรณ์ ของใช้ทันทีเมื่อได้ยินสัญญาณหมดเวลา
       - อดทนอดกลั้นจนกว่าจะถึงโอกาสของตนเอง
       - ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน
       - เล่นและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้
       - ช่วยเหลือ แบ่งปันสื่อ อุปกรณ์ของใช้โดยไม่แย่งกัน
       - ดูแลรักษาของใช้ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย
       พฤติกรรมดังกล่าวเป็นตัวอย่างซึ่งครูปฐมวัยสามารถที่จะฝึกให้เด็กมีวินัยในตนเองได้อย่างมีคุณภาพ

2557/05/11

กิจกรรมที่ควรทำต่อเนื่องจากการเล่านิทาน

                การเล่านิทานเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับกิจกรรมที่ควรทำต่อเนื่องจากการเล่านิทานนั้น ผู้ใหญ่ควรเลือกทำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับเด็กและสถาน
การณ์ต่างๆดังนี้
               - การตั้งชื่อเรื่องนิทานที่ฟัง
               - ถาม-ตอบจากเรื่องที่ฟัง
               - อภิปรายเกี่ยวกับทบาทของตัวละครในนิทาน
               - แสดงบทบาทสมมติตามเรื่องราวของนิทานที่ได้ฟัง
               - ให้เด็กแต่งนิทานต่อเนื่องจากเรื่องเดิมที่ฟัง
               - วาดภาพ ระบายสี
               - ปั้น ฉีก ปะ ตัวละครในนิทาน
               - วาดภาพตอนที่ประทับใจที่สุด
               ฉะนั้นครูและนักเรียนควรร่วมกันเลือกทำกิจกรรมดังกล่าวต่อเนื่องจากการเล่านิทาน

2557/05/08

รูปแบบการเล่านิทานให้กับเด็กปฐมวัย

           ผู้ใหญ่สามารถเล่านิทานให้กับเด็กปฐมวัยได้อย่างหลากหลายรูปแบบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและปัจจัยต่างๆที่เอื้ออำนวยให้กับผู้เล่า ซึ่งนิทานมีคุณค่าต่อการเรียนรู้ของเด็กเป็นอย่างมาก รูปแบบของการเล่านิทานมีดังนี้
          - การอ่านจากหนังสือนิทาน
          - การเล่าด้วยปากเปล่าโดยการเล่าที่อาศัยคำพูดและน้ำเสียง ไม่ใช้สื่อประกอบการเล่าซึ่งต้องอาศัยศิลปะในการเล่าของผู้เล่าเป็นอย่างมาก
          - การเล่าประกอบภาพ เช่น ภาพโปสเตอร์ ภาพจากหนังสือ ภาพวาด ภาพเคลื่อนไหวต่างๆ
          - การเล่าประกอบท่าทาง ท่าทางที่ใช้ประกอบการเล่านิทานอาจเป็นท่าทางของผู้เล่า ท่าทางแสดงร่วมของเด็ก ได้แก่การทำหน้าตา การแสดงท่าทางทางกายหรือการเล่นนิ้วมือ
          - การเล่าประกอบเสียง เช่น เสียงเพลง เสียงดนตรี  เพื่อสร้างบรรยากาศให้ตี่นเต้นและติดตาม
          - การเล่าประกอบอุปกรณ์ หรือสิ่งประดิษฐ์ที่ผู้เล่าทำขึ้นเอง เช่่น หน้ากาก หุ่นมือ หุ่นชัก หุ่นเชิด อุปกรณ์เหล่านี้จะทำให้เด็กมีความสุขสนุกสนานและเพลิดเพลิน
          รูปแบบการเ่ล่านิทานที่กล่าวนี้ผู้เล่าสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมและตามความต้องการที่จะให้เกิดประโยชน์ต่อเด็กมากที่สุด

     

2557/05/06

การจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมภาษาให้กับเด็กปฐมวัย

            การพัฒนาการทางภาษานั้นเป็นการพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาติดต่อสื่่อสารกัน ซึ่่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องในช่วงปฐมวัย ผู้ใหญ่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนตามปัจจัยที่มีอยู่ในเด็กแต่ละคน แนวทางการส่งเสริมภาษาในเด็กมีดังนี้
           - จัดเตรียมหรือหาสื่อเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านการฟัง พูด อ่านและเขียน
           - ด้านการฟังควรใช้สื่อที่มีเสียง การเล่านิทานคำคล้องจอง เพลงกล่อมเด็ก การเล่นตามคำสั่ง
           - ด้านการพูดควรเป็นสื่อที่เด็กเคยมีประสบการณ์มาก่อนโดยนำมาจัดในรูปของการสนทนา การเล่าเรื่อง การเล่านิทาน การแสดงละคร
           - ด้านการอ่านควรเป็นสื่อที่เป็นภาพ หนังสือภาพ ตัวอักษรที่ทำด้วยกระดาษแข็ง พลาสติก หรือไม้
           - ด้านการเขียนควรเป็นสื่อที่เป็นดินหรือแป้งสำหรับปั้น การประดิษฐ์ การวาดภาพ การระบายสี
การฉีก การปะ
           นอกจากการจัดประสบการณ์ให้เด็กด้วยการใช้สื่อดังกล่าวแล้วการพัฒนาความสามารถด้านภาษายังต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อเด็กอีกด้วย

2557/04/24

ประโยชน์ของการเล่นตามมุมประสบการณ์

      การจัดกิจกรรมการเล่นตามมุมประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เล่น ลงมือปฏิบัติ กระทำกับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์อย่างอิสระและเพลิดเพลินโดยเปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้คิดวิธีการเล่นอย่างเสรีตามความสนใจ ดังนั้นจึงมีประโยชน์ดังนี้
     - เด็กได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา
     - เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกและตัดสินใจด้วยตนเอง ตามความสนใจ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรง และค้นพบด้วยตนเอง
     - ให้เด็กได้เชื่่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น
     - ให้เด็กได้สนุกสนานเพลิดเพลิน มีความสนใจกระตือรือร้นในการเรียนรู้
     - เด็กได้เรียนรู้การคิดแก้ปัญหา การรู้จักใช้คำพูดโต้ตอบกับผู้อื่น
     - เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเพื่อน รู้จักการปรับตัว
     - เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
     ดังนั้น
การให้เด็กได้เล่นตามมุมประสบการณ์ต่างๆเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ทำให้เด็กมีความสุขสนุกสนาน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติและนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่อไป

2557/04/11

เด็กปฐมวัยกับความต้องการทางสังคม

             เด็กในช่วงปฐมวัยมีความต้องการที่จะเรียนรู้ในการติดต่อกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน เด็กจะเรียนรู้ในการปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆซึ่งความต้องการทางสังคมนั้นมีดังนี้
             - เด็กต้องการที่จะสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนในวัยเดียวกัน และมีเพื่อนเพียง 1-2 คนและเป็นเพื่อนเพศเดียวกัน และเด็กมักมีสังคมไม่แน่นอน
             - เด็กต้องการที่จะเล่นกับเพื่อนที่เป็นกลุ่มเล็กและกลุ่มย่อย การเล่นเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างเล่นแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
             - เด็กมีความต้องการที่จะแสดงออกและสนุกสนานกับการเล่นที่อาจแต่งเรื่องขึ้นเองหรือเลียนแบบจากรายการโทรทัศน์
             - เด็กต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่และกลุ่มเพื่อน
             - เด็กชายและเด็กหญิงมีความสนใจคล้ายกัน และยังไม่มีความเข้าใจเกี่่ยวกับบทบาททางเพศ
             จากความต้องการดังกล่าวจะเห็นว่าเด็กปฐมวัยต้องการการมีความสัมพันธ์กับเพื่อน และต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมและพัฒนาการด้านสังคมให้กับเด็กตั้งแต่แรก

2557/04/04

ประโยชน์ของการฝึกทักษะการจำแนกให้กับเด็ก

                 การจัดประสบการณ์เพื่อฝึกการจำแนกให้กับเด็กปฐมวัยจะต้องให้เด็กได้ลงมือกระทำหรือการจัดการกับวัตถุด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง เด็กจึงจะเกิดการเรียนรู้และทักษะดังกล่าวมีประโยชน์ดังนี้
                 - เด็กเกิดมโนคติเกี่ยวกับประเภทของสิ่งของต่างๆ
                 - เด็กมีทักษะในการจัดประเภทของสิ่งของด้วยวิธีการสังเกต
                 - เด็กมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างและความเหมือนระหว่างสิ่งของที่มีลักษณะต่างๆกัน
                 - เด็กมีลักษณะนิสัยที่เป็นคนมีระเบียบวินัยในการจัดของให้เป็นระเบียบ เป็นหมวดหมู่ หรือเป็นประเภทเดียวกัน
                 การที่จะฝึกทักษะการจำแนกดังกล่าวข้างต้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและพยายามจัดหาวัสดุอุปกรณ์หลายๆชนิดมาให้เด็กเล่นหรือทำกิจกรรมเพื่อให้เด็กเกิดความสนใจอยู่ตลอดเวลา

2557/04/03

การเลือกหนังสือสำหรับเด็กเล็ก

            พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กนั้นจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเด็กด้วยการใช้หนังสือซึ่งจะเป็นการวางรากฐานทำให้เด็กมีพฤติกรรมรักการอ่าน หลักการเลือกหนังสือสำหรับเด็กเล็กใช้หลักการง่ายๆดังนี้
           - มีภาพชัดเจน ดูง่าย เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน
           - สีสันตัดกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น พื้นขาว รูปและเส้นเป็นสีเข้ม หรือพื้นเป็นสีเข้ม รูปและเส้นเป็นสีสว่าง สีของหนังสือภาพประกอบไม่จำเป็นต้องเป็นสีสดใส หรือมีสีมากมาย อาจจะเป็นขาวดำ เพราะสีสันที่สวยงามของภาพประกอบเป็นเพียงตัวช่วยบอกความคิดรวบยอดของรูปเท่านั้น
           - ตัวหนังสือในหนังสือเด็กไม่ควรยาวมากนักหรือไม่มีเลยก็ได้ เพราะหนังสือสำหรับเด็กภาพประกอบจะทำหน้าที่เล่่าเรื่อได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
           ฉะนั้นการเลือกหนังสือสำหรับใช้ให้เหมาะกับเด็กเล็กๆผู้ใหญ่จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจจึงจะเกิดประโยชน์กับการพัฒนาเด็กให้มีการพัฒนาอย่่างเต็มศักยภาพ

2557/03/28

หนังสือภาพสำหรับเด็กปฐมวัย

                   หนังสือภาพเป็นหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กเล็กๆ ซึ่่งเป็นวัยที่เด็กยังอ่านหนังสือไม่ออก ผู้ใหญ่ต้องคอยอ่่านให้ฟังโดยเด็กจะดูภาพตามไปด้วยอย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่จึงไม่ควรปล่อยให้เด็กอ่านหรือดูเองตามลำพัง จุดประสงค์สำคัญของการใช้หนังสือภาพสำหรับเด็กเล็กนี้มีด้งนี้
                  - เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยหรือพฤติกรรมรักการอ่านให้กับเด็ก
                  - ให้เด็กได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นหรือเป็นการขยายประสบการณ์ให้กับเด็ก
                  - ให้เด็กรักการเรียนรู้
                  - เด็กจะได้รับความรักความอบอุ่นจากผู้ใหญ่ขณะที่ใช้หนังสือภาพ
                  - สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก
                  - ให้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
                  จากจุดประสงค์ดังกล่าวถ้าผู้ใหญ่ซึ่งเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูร่วมมือกันพัฒนาเด็กด้วยการส่งเสริมและใช้หนังสือภาพกันตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่เด็กของเราคงจะมีพฤติกรรมกรักการอ่านเมื่อโตขึ้น


2557/03/10

การส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมให้แก่เด็กปฐมวัย

             พฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัยเป็นพฤติกรรมการแสดงออกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับของทางสังคม ถ้าต้องการให้เด็กมีพฤติกรรมทางสังคมที่ดีและเหมาะสมควรพัฒนาและส่งเสริมให้เด็กเกิดตั้งแต่ปฐมวัยดังนี้
             - การให้แรงเสริม ซึ่งจะช่วยปรับพฤติกรรมให้เด็กทีละน้อย เช่น การให้การเสริมแรงเวลาที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือเมื่อเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ
             - การแสดงออกด้วยวาจาหรือท่าทางว่าเด็กควรจะทำหรือไม่ ด้วยคำพูดหรือการพยักหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
             - การพัฒนาพฤติกรรมโดยให้ตัวแบบที่ดี โดยการให้เด็กมีตัวอย่างที่ดีจะช่วยให้เด็กเลียนแบบตาม เด็กๆมักชอบเลียนแบบผู้ที่เด็กชอบ เช่น พ่อแม่ ครู ญาติ พี่่น้อง เพื่อน นักกีฬา นักร้อง ตัวละครในนิทาน ผู้มีชื่อเสียง เป็นต้น
            ดังนั้นการส่งเสริมพฤติกรรมทางสังคมควรดำเนินการตั้งแต่เด็กซึ่งจะต้องร่วมมือกันทั้งครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง และให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข

2557/01/30

การฝึกทักษะการสังเกตให้แก่เด็กปฐมวัย

              การฝึกทักษะการสังเกตให้แก่เด็กปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างมากและจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ การฝึกทักษะนี้เป็นการฝึกการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันได้แก่ผิวกาย ตา หู จมูก และลิ้น เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือเหตุการณ์ ปรากฏการณ์เพื่อค้นหาข้อมูลอย่างละเอียด ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ โดยไม่ใช้ความรู้สึก ความคิดของผู้สังเกตเข้าไปเกี่ยวข้อง ในด้านวิทยาศาสตร์การสังเกตเป็นทักษะพื้นฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นต้องเป็นผู้มีความชำนาญ มีความละเอียดถี่ถ้วนซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกทักษะการสังเกตตั้งแต่เป็นเด็กปฐมวัย เช่น
           -ฝึกการเห็น เป็นการสังเกตที่ใช้ตาช่วยในการสังเกตลักษณะและสมบัติของวัตถุ
           -ฝึกการได้ยิน เป็นการสังเกตที่ใช้หูช่วยในการสังเกตลักษณะและสมบัติของวัตถุ
           -ฝึกการสัมผัส เป็นการสังเกตที่ใช้ผิวกายช่วยในการสังเกตถึงความหมายหรือความละเอียดของเนื้อวัตถุถึงขนาดและรูปร่างของวัตถุ
           -ฝึกการชิม เป็นการสังเกตที่ใช้ลิ้นช่วยในการสังเกตสมบัติของสิ่งของ
           -ฝึกการได้กลิ่น เป็นการสังเกตที่ใช้จมูกช่วยในการสังเกตความสัมพันธ์ของวัตถุกับกลิ่นที่ได้พบ
           ดังนั้นการฝึกการสังเกตนั้นเด็กปฐมวัยต้องได้รับการฝึกทักษะดังกล่าวตั้งแต่แรกเป็นต้นไป


2557/01/28

สิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ทางภาษาของเด็กปฐมวัย

        การเรียนรู้ทางภาษาจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติด้วยตัวของเด็กเอง และสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรุ้ภาษาของเด็กทึ่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
       - ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครู โดยเฉพาะครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมต่อยอดการเรียนรู้ให้กับเด็ก
       - ให้โอกาสเด็กในการใช้ภาษา ในการเรียนรู้ครูต้องฝึกเด็กให้มีความมั่นใจและให้โอกาสแก่เด็กทุกคนได้มีการฝึกฝนในการสื่อสาร
       - จัดทำและหาสื่อวัสดุที่น่าสนใจ โดยจะต้องพิจารณาการใช้สื่อให้เหมาะสมและน่าสนใจตลอดจนสอดคล้องกับเนื้อหาในการสอน
       - ฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเอง  การฝึกปฏิบัติมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ทางภาษาไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน
       ดังนั้นครูปฐมวัย และผู้ใหญ๋ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กจะต้องดำเนินการด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้มีพัฒนาการทางภาษาอย่างมีคุณภาพ

2557/01/13

ประโยชน์ของปริศนาคำทายสำหรับเด็กปฐมวัย

           ปริศนาคำทายสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นครูหรือผู้ใหญ่มักจะถามด้วยคำว่าอะไรเอ่ย มีลักษณะเป็นคำถามที่เป็นร้อยกรองโดยใช้คำสัมผัสคล้องจองแบบสันๆ มีความยาวไม่มากนักเป็นการนำเนื้อหาที่ต้องการให้เด็กคิดและหาคำตอบมาผูกเป็นคำถาม เมื่อนำมาถามเด็กจะทำให้น่าฟังและมีประโยชน์คือ
           - เป็นการเตรียมความพร้อมทางภาษาในการฝึกฟัง พูด อ่าน และเขียนให้แก่เด็ก
           - ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาไทย และเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้ซึมซับบทกวีหรืองานประพันธ์
           - เด็กได้รับการจัดประสบการณ์เสริมโดยการถาม-ตอบปริศนาคำทายอะไรเอ่ย
           - ปริศนาคำทายมีการสอนคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก เช่น ความเมตตา ความมีวินัย ฯลฯ
           - เป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
           - ได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
           - ปลูกฝังและภูมิใจในความเป็นคนไทยให้กับเด็กตั้งแต่เล็กๆ
           การนำปริศนาคำทายดังกล่าวมาประกอบการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาทางด้านภาษาเป็นอย่างดีทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อไป

2557/01/07

กิจกรรมการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัยช่วยพัฒนาสมอง

            การที่่เด็กปฐมวัยได้เคลื่อนไหวนั้นส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นระยะที่สมองบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างการพัฒนาการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวเป็นตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการพัฒนา การเคลื่อนไหวของเด็กมีหลายแบบต่างๆกัน สำหรับกิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมดังนี้
           - จัดกิจกรรมให้เด็กสำรวจรูปร่าง/ หน้าตา และอวัยวะส่วนต่างๆของตนเอง
           - จัดกิจกรรมสร้างสรรทำท่าทางส่วนต่างๆของร่างกายด้วยตนเอง เช่น การยืด โค้ง งอ บิด เอี้ยว เปิด ปิด แคบ กว้าง เล็ก ใหญ่ สั้น ยาว ฯลฯ
           - จัดกิจกรรมการเคลื่อนที่ของร่างกายส่่วนต่างๆในพื้่นที่ส่วนตัวและบริเวณทั่วไปโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนระดับ ทิศทาง และน้ำหนัก
           การฝึกให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายในเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าวมีผลให้มีการพัฒนาการทางสมอง นอกเหนือจากการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ และสังคม

2557/01/06

บทบาทพ่อแม่ ครูในการส่งเสริมการคิดให้กับเด็กปฐมวัย

                พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดได้อย่างหลากหลายวิธี โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และการพัฒนาการคิดของเด็กจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรมีบทบาทดังนี้
               - ฝึกให้เด็กได้ฝึกการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ปาก และกาย
               - ใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้เกิดการคิด และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาเมื่อเด็กมีปัญหา
               - จัดสื่อ อุปกรณ์ ของเล่นต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการคิดหรือดัดแปลงได้
               - จัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้ค้นคว้าอยู่เสมอ ตลอดจนเหมาะสมสอดคล้องกับพัฒนาและความสนใจของเด็ก
               - จัดกิจกรรมในรูปแบบการเล่นเกม กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
               ดังนั้นการพัฒนาการคิดให้กับเด็กต้องเริ่มตั้งแต่่เด็กยังเล็ก ให้เด็กได้มีโอกาสคิดและฝึกอย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมต่างๆ

2557/01/05

การพูดทักษะสำคัญในการสื่อสารของเด็กปฐมวัย

           การฝึกให้เด็กปฐมวัยพูดเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพราะการพูดเป็นเครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสารที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิดของเด็ก สิ่งที่จะต้องฝึกให้เด็กพูดมีดังนี้
           - เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ โดยให้พูดอย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ
           - ให้เด็กพูดอย่างชัดเจน อย่างเช่นเสียงที่เป็นปัญหา" ส " และฝึกให้เด็กพูดด้วยความมั่นใจ พูดให้น่าฟัง
           - ฝึกให้เด็กรู้จักใช้คำสุภาพ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ โดยให้ใช้อย่างสม่ำเสมอ
           - พูดประโยคให้ถูกต้องจนเป็นนิสัย เช่น เปล่าทำ ควรให้เด็กพูดว่าไม่ได้ทำ เป็นต้น
           - ฝึกให้มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นด้วยคือมีความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดด้วยจึงจะพูดตอบโต้ได้ถูกต้อง
          - ฝึกให้เล่าเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ไปเที่ยว ไปตลาด ไปสวนสัตว์ เป็นต้น
          - ให้และฝึกหลักภาษาง่ายๆ เช่น คำบางคำมีความหมายได้หลายอย่าง การออกเสียงวรรณยุกต์
          การพัฒนาการพูดมีความสำคัญเช่นเดียวกับทักษะอื่นๆในการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นการฟัง อ่านหรือเขียน ผู้ใหญ่จึงควรมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมทางภาษา

2557/01/02

การจัดห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย

                     การจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยสิ่งสำคัญอันดับแรกต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งต่อมาคือความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความรู้สึกของเด็กเมื่ออยู่ในห้องคือความอบอุ่นเสมือนอยู่ที่บ้าน มีความสุข ผ่อนคลาย พื้นที่จะต้องมีให้เด็กได้ทำกิจกรรม ได้เคลื่อนไหว มีมุมประสบการณ์ต่างๆ สำหรับพื้นที่ที่เรียกว่าอำนวยความสะดวกแก่เด็กและครูควรมีลักษณะดังนี้
                    - ป้ายนิเทศตามหน่วยการเรียนรู้หรือสิ่งที่เด็กสนใจ
                    - ที่แสดงผลงานของเด็ก
                    - ที่เก็บเครื่้องใช้ส่วนตัวของเด็ก
                    - ที่เก็บเครื่องใช้ของผู้สอน
                    - ที่เก็บแฟ้มผลงานของเด็ก อาจจัดทำเป็นกล่องหรือจัดใส่เป็นแฟ้มรายบุคคล
                   การจัดห้องเรียนในส่วนของพื้นที่ดังกล่าวนี้มีความจำเป็นสำหรับเด็ก ครูต้องคำนึงถึงเด็กเป็นตัวตั้งและให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนที่อยู่ในห้อง เพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ