2556/06/22

ฝึกทักษะสังเกตให้กับเด็กปฐมวัย

                การให้เด็กปฐมวัยมีทักษะการสังเกตนั้น จำเป็นที่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย โดยใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าวให้สัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือปรากฎการณ์ต่างๆ ไม่ใช่ใช้ตาอย่างเดียวดังนั้นจึงควรให้เด็กได้ใช้อวัยวะดังนี้
                - จมูก ให้เด็กได้ดมดอกไม้ ผลไม้ ว่ามีกลิ่นอย่างไร
                - หู ให้เด็กได้ฟังเสียงวัตถุที่เคาะให้ฟัง เสียงเพลง เสียงร้องของสัตว์
                - ตา ให้เด็กดูสิ่งต่างๆ มีรูปร่าง ลักษณะ ขนาดต่างๆ
                - ลิ้น ให้เด็กได้ลองชิมรส ต่างๆ ที่เป็นรสหวาน รสขม รสเปรี้ยว
                - ผิวกาย ให้เด็กได้ใช้ผิวกายในการสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยการใช้มือลูบ คลำ หรือแตะว่ามีลักษณะนุ่ม หยาบ ขรุขระ อย่างไร
                การให้เด็กได้ฝึกใช้ประสาทดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะทำให้เด็กเป้นคนละเอียด สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างดี และมีความสนใจใฝ่รู้เมื่อโตขึ้น

2556/06/13

บทบาทครูปฐมวัยกับกิจกรรมวิทยาศาสตร์

                    การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เราเข้าใจกันทั่วไปคือการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบต้วเด็กโดยเน้นกระบวนการแสวงหาความรู้และการคิดแก้ปัญหาอย่างมีระบบและมีแบบแผน มีการกำหนดจุดประสงค์หรือปัญหา มีการเก็บและรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกต ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า เด็กได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเองจากความต้องการและความสนใจ และอยากรู้อยากเห็น เป็นการตอบคำถามที่เด็กสงสัยโดยการหาคำตอบด้วยตนเองจากการทำกิจกรรมที่หลากหลาย  สำหรับบทบาทของครูคือเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเด็กในการปฏิบัติกิจกรรม วางแผนการในการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์และเตรียมวัสดุอุปกรณ์ คอยใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดหาคำตอบ ด้วยคำถามที่เกี่ยวกับการสังเกตในด้านต่างๆ เช่น  ด้านคุณลักษณะ การกะประมาณ ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงจากการทดลอง และการสรุปร่วมกันเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมการสังเกตหรือกิจกรรมการทดลองต่างๆ

2556/06/09

ครูกับการพัฒนาทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย

          การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ครูจะจัดกิจกรรมในเรื่องของสิ่งที่อยู่แวดล้อมเด็กซึ่งเกี่ยวข้องกับพืช สัตว์ มนุษย์ ดิน น้ำ อากาศ แสง เสียง เป็นต้น โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจากการสังเกต ทดลองและตอบคำถาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กประทับใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครูจะต้องพัฒนาให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ครูควรปฏิบัติเพื่อสร้างทัศนคติให้กับเด็กคือ
         - จัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการสังเกตสิ่งที่เด็กพบทุกวัน ให้เด็กได้ค้นหาแหล่งข้อมูลง่ายๆ


         - คอยส่งเสริมและสนับสนุนเด็กขณะจัดกิจกรรมการทดลอง ให้เวลากับเด็กโดยคอยให้คำแนะนำและถามคำถามต่างๆ สิ่งที่ครูควรพูดหรือถามได้แก่ นักเรียนคิดอะไร นักเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะลองอีกครั้งหนึ่งไหมว่าจะเกิดเหมือนเดิมหรือไม่ ลองผลัดกันมาดูทีละคนว่าพวกเราทั้งหมดเห็นเหมือนกันหรือไม่
        ฉะนั้นการพัฒนาทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับครูในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนวิทยาศาสตร์ต่อไป

2556/06/03

การจัดการเรียนแนววอลดอร์ฟ

          การจัดการเรียนการสอนแนววอลดอร์ฟให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์โดยมุ่งหวังให้มนุษย์มีการพัฒนาในด้านต่างๆที่มีความสำคัญดังนี้
        ด้านความรู้สึก ให้มีความเมตตา กล้าหาญ ศรัทธาต่อชีวิต และมีจิดใจใฝ่รู้
        ด้านความคิดแยบคาย  มีพลังและสร้างสรรค์
        ด้านพลังเจตจำนงแน่วแน่ สามารถบรรลุภารกิจแห่งชีวิตที่ตนเองเป็นผู้เลือกสรร
        ในชีวิตของมนุษย์เราวัยเด็กเป็นวัยที่การศึกษาแนววอลดอร์ฟให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นช่วงของความสำคัญสำหรับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องก้าวผ่านและควรจะได้รับการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ สำหรับโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแนวนี้ในระดับปฐมวัยคือโรงเรียนบ้านหนองขาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้ดำเนินการและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเด็กปฐมวัยจะได้เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ และมีความพร้อมที่จะเรียนในระดับขั้นพื้นฐานต่่อไป