2561/12/31

บทบาทครูในการจัดประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัยมีวินัยในตนเอง

      ครูปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดประสบการณ์ให้เด็กเพื่อให้เด็กมีวินัยในตนเองซึ่งวินัยในตนเองเป็นพัฒนาการทางสังคมเด็กต้องได้เรียนรู้ในการอยู่กับคนอื่น บทบาทครูในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กควรมีดังนี้
      - ให้เด็กได้เรียนรู้ในการปฏิบัติตามมารยาททางสังคมโดยเฉพาะสังคมไทย เช่น การไหว้ การกล่าวคำทักทาย  การพูดกล่าวขอบคุณ ขอโทษ เป็นต้น
      -  ให้เด็กเรียนรู้ในการที่จะเป็นตัวของต้วเอง มีความเชื่อมั่นในตนเอง การนับถือตนตเอง โดยครูต้องคอยแนะนำช่วยเหลือให้เด็กได้ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมต่างๆ
      -  ให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองซึ่งจะต้องให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ
ขณะเดียวกันเด็กก็สามารถที่จะเรียนรู้ในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
      -  ให้เด็กได้เรียนรู้ในการฟังความคิดเห็นหรือความรู้สึกของผู้อื่น โดยเริ่มจากอารมณ์และความรู้สึกของตนเองก่อน จากนั้นก็เป็นการสังเกตอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น
      การให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่กล่าวข้างตนจะนำไปสู่การมีวินัยในตนเองของเด็กซึ่งเด็กจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและเรียนรู้ในการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเหมาะสม

2561/11/30

การพัฒนาทักษะการสังเกตให้กับเด็กปฐมวัย

     ทักษะการสังเกตสำหรับเด็กปฐมวัย หมายถึงการใช้ประสาทสัมผัสอย่างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันของเด็กซึ่งได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัดถุหรือเหตุการณ์ เพื่อจุดประสงค์ในการหาข้อมูลซึ่งเป็นรายละเอียดของสิ่งนั้นๆโดยไม่ใส่รายละเอียดของผู้สังเกตลงไป
ดังนั้นควรทีึ่จะฝึกให้เด็กหรือพัฒนาทักษะสังเกตให้กับเด็กตั้งแต่ปฐมวัยคือ
     - การสังเกตลักษณะและคุณสมบัติทั่วไป สังเกตสิ่งต่างๆแล้วรายงานให้ผู้อื่นทราบและเข้าใจได้ถูกต้องคือการใช้ตาดู
     - การสังเกตรูปร่าง ลักษณะ หูฟังเสียง ลิ้นชิมรส จมูกดมกลิ่น และการสัมผัสจับต้องว่าเรียบ แข็ง นิ่ม
ขรุขระ เป็นต้น
     - การสังเกตการเปลี่ยนแปลง เช่น การสังเกตการเจริญเติบโตของพืช การกลายเป็นไอน้ำ เป็นต้น
     - การสังเกตพร้อมกับการวัดเพื่อทราบปริมาณ เช่น ไม้บรรทัด  ตาชั่ง ช้อน กระบอกตวง เทอร์โมมิเตอร์ เป็นต้น
     ดังนั้นการพัฒนาทักษะการสังเกตมีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับเด็กปฐมวัยเพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเด็กปฐมวัย

2561/10/30

การส่งเสริมวินัยในตนเองสำหรับเด็กปฐมวัย

    วินัยในตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม การจะให้บุคคลมีวินัยในตนเองจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กปฐมวัยและควรใช้วิธีการจูงใจมากกว่าการบังคับให้เด็กปฏิบัติ ที่สำคัญผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี สำหรับแนวทางในการส่งเสริมวินัยในตนเองให้กับเด็กปฐมวัยมีดังนี้
     - ปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ
     - สร้างบรรยากาศที่มีการผ่่อนคลาย
     - เปิดโอกาสให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆด้วยตนเอง
     - เปิดโอกาสให้เด็กช่วยกันสร้างข้อตกลง
     - สนับสนุนให้เด็กมีโอกาสคิดและตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
     - แสดงความชื่นชมเมื่อเด็กปฏิบัติตามข้อตกลงและ
ให้กำลังใจ
     - ทบทวนสิ่งที่เด็กได้กระทำโดยการถามหรือชมเชย
    ดังนั้นการส่งเสริมวินัยในตนเองควรเริ่มตั้งแต่ปฐมวัย ผู้ใหญ่จำเป็นต้องส่งเสริมให้เด็กมีวินัยในตนเองอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่่อง

2561/09/29

การเล่นเกม : ส่งเสริมพัฒนาการในทุกด้านสำหรับเด็กปฐมวัย

         การเล่นเกมสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นการจัดกิจกรรมการเล่นให้กับเด็กเพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการ
ด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา มีกฎ กติกาที่ไม่สลับซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยความสนุกสนาน ซึ่งประโยชน์ของการเล่นเกมคือ
         - เด็กได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ร่าเริง ผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียด
         - สนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านต่างๆโดยการนำเกมเข้ามาใช้เพื่อสร้างความสนใจให้กับเด็ก
         - เด็กได้แสดงพฤติกรรมที่แท้จริงออกมาทำให้ครูได้เข้าใจเด็กแต่ละคนได้ชัดเจน
         - เด็กได้รับโอกาสในการร่วมกิจกรรมทำให้สร้างทักษะพื้นฐานทางร่างกาย และทักษะในการอยู่ร่วมกันในสังคม
         - ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในการเล่นร่วมกัน การทำงานร่วมกันกับบุคคลต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อตกลงของกลุ่ม
         - ส่งเสริมสมรรถภาพทางกายเพื่อเป็นพื้นฐานในการเล่นกีฬาประเภทต่างๆ
         ดังนั้นการเล่นเกมสำหรับเด็กมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ผู้ใหญ๋ควรให้ความสำคัญและตระหนักถึงการจัดกิจกรรมให้เด็กได้เล่นเกมเพื่อพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมในทุกด้าน

2561/07/31

การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยแบบการศึกษานอกสถานที่

      การจัดประสบการณ์นอกสถานที่นั้นเป็นการนำเด็กไปศึกษานอกห้องเรียนโดยให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับสถานที่ วัตถุ บุคคล โรงงาน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถนำมาให้ดูในห้องเรียนได้
การศึกษานอกสถานที่สามารถ
แบ่งออกเป็น 3 แบบตามระยะทางได้ดังนี้
      - การศึกษานอกสถานที่ ในระยะทางใกล้ๆ คือเป็นการนำเด็กไปยังสถานที่อื่นซึ่งยังคงอยู่ภายในโรงเรียน
      - การศึกษานอกสถานที่ ในระยะทางขนาดกลาง คือการนำเด็กไปศึกษาในบริเวณชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงเรียน ซึ่งสามารถที่จะเดินทางด้วยเท้าไปได้อย่างสะดวก
      - การศึกษานอกสถานที่ ในระยะทางไกล คือการไปศึกษานอกสถานที่ที่จะต้องใช้ยานพาหนะ และต้องเสียเวลาอย่างน้อย 1 วันขึ้นไป
      การจัดประสบการณ์แบบการศึกษานอกสถานที่ดังกล่าวมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมากส่งผลให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ทำให้เด็กนำสิ่งที่ได้เห็นมาพัฒนาตนเอง ทำให้สังคมเด็กกว้างขึ้นและทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนหรือท้องถิ่นที่อาศัยอยู่

2561/06/29

บทบาทครูปฐมวัยในการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะการแก้ปัญหา

        การที่จะให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ ครูปฐมวัยมีบทบาทสำคัญ
ครูจะต้องฝึกให้เด็กไ้ด้เรียนรู้ในการแก้ปัญหาอย่างเป็นกระบวนการ อย่างแรกควรสอนให้เด็กมีทักษะในการกำหนดประเด็นของปัญหาดังนี้
        - นำเสนอสถานการณ์หรือกรณีศึกษาที่เป็นปัญหาให้เด็กได้ศึกษา สิ่งสำคัญคือครูต้องใช้คำถามกระตุันให้เด็กได้คิดวิเคราะห์
        - ให้เด็กได้สังเกตจากสถานการณ์จริงหรือสื่ออื่นๆ เช่น ภาพข่าว เหตุการณ์ต่างๆแล้วร่วมกันอภิปรายร่วมกันถึงสาเหตุของปัญหา
        - การสร้างสถานการณ์ที่น่าสนใจ เช่น การเล่านิทาน การแสดงบทบาทสมมติ  ฯลฯ แล้วครูตั้งคำถาม
        - การนำกรณีศึกษาที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กโดยตรง เช่น ปัญหาการทำงานที่ครูมอบหมายให้
ไม่สำเร็จ การไม่นำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ครูสั่งให้นำมาที่โรงเรียน ฯลฯ
        การที่จะทำให้เด็กมีทักษะการแก้ปัญหา ครูมีบทบาทสำคัญคือต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อฝึกให้เด็กได้แก้ปัญหาด้วยตนเอง และคอยช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อมีความจำเป็น

2561/05/30

บทบาทครูปฐมวัยในด้านการจัดประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์

        ในการจัดประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าและได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย ดังนั้นครูปฐมวัยควรมีบทบาทดังนี้
        - จัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน(จัดมุม หรือศูนย์วิทยาศาสตร์)โดยควรคำนึงว่าจัดอย่างไร เพื่อให้เด็กอยากเข้าไปเล่นในมุมนั้นๆ การเข้าไปเล่นในมุมจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และมีประสบการณ์ต่างๆ
        - ส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจค้นคว้าเพื่อทำให้เด็กได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ โดยครูควรสังเกตพฤติกรรมเด็ก
ใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิด เสริมสร้างเจตคติต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
        - จัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดและเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ด้วย
วิธีการหลากหลาย เช่น อภิปราย สังเกต สนทนา ซักถาม ทัศนศึกษา เป็นต้น
        - สอดแทรกทักษะทางวิทยาศาสตร์เข้ากับเนื้อหาการเรียนรู้อื่นๆ
        - มีการแนะนำอุปกรณ์ ชักชวนให้เด็กสนใจ และลงมือปฏิบัติ
      ดังนั้นการจัดประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย ครูมีความสำคัญยิ่งและระลึกเสมอว่า
ธรรมชาติตามวัยเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้วซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย

2561/04/30

ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถด้านภาษาของเด็กปฐมวัย

                ความสามารถด้านภาษาของเด็กปฐมวัย เราสามารถสังเกตได้จากการที่เด็กแสดงออกถึงความสามารถด้านการเข้าใจและใช้ภาษาสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความคิดความรู้ผ่านการพูดสื่อสารได้อย่างเหมาะสมกับวัย สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถทางภาษามีดังนี้
                -  สติปัญญา ภาษานั้นมีความสำคัญระหว่างสติปัญญาและภาษา พบว่าเด็กมีสติปัญญาดีจะมีความสามารถด้านศัพท์และการใช้ประโยค ฯลฯ
                - สุขภาพของเด็ก เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยในช่วง 2 ปีแรกจะทำให้การเริ่มพูดและการรู้จักประโยคช้าไปราวๆ 1-2 เดือนเพราะการป่วยทำให้เด็กไม่อยากพูดกับใคร
                - อายุและเพศ มีผลต่อพัฒนาการทางภาษา พบว่าเด็กผู้หญิงจะใช้ภาษาพูดได้ดีกว่าเด็กผู้ชาย
                - ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงจะมีโอกาสติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆได้พบของเล่น หนังสือนิทาน ฯลฯ
                - ความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่าเด็กในสถานสงเคราะห์เลี้ยงดูเด็กกำพร้า มีพัฒนาการทางภาษาช้ากว่าเด็กทั่วไป
                - สิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อพัฒนาการทางภาษา คือเด็กท่ี่อยู่ในสิ่งแวดล้อมใดการใช้ภาษา
ของเด็กจะเป็นไปตามสิ่งแวดล้อมนั้นๆ
                ดังนั้นปัจจัยที่กล่าวข้างต้นมีผลต่อพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย การจะพัฒนาด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัยควรคำนึงปัจจัยดังกล่าว

2561/03/31

การจัดประสบการณ์ทางภาษาให้แก่เด็กปฐมวัย

           การที่จะพัฒนาภาษาให้กับเด็กปฐมวัยต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความอยากที่จะเรียนรู้ จึงจำเป็นต้องให้เด็กได้เรียนรู้จากการเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นนิ้ว การเล่นตอบคำถาม การเล่นปริศนาคำทาย การเล่นร้องเพลง และการทำท่าทางประกอบการเล่นตามนิทาน ฯลฯ นอกจากนั้นควรที่จะส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาดังนี้
           -การจัดประสบการณ์ด้านการฟัง ควรเป็นกิจกรรมการเล่านิทาน คำคล้องจอง บทกลอน เพลง การเล่นที่ฝึกการฟังต่างๆ ส่วนสื่อที่ใช้ควรเป็นสื่อที่ทำให้เกิดเสียงแล้วให้เด็กได้ฝึกฟัง
           -การจัดประสบการณ์ด้านการพูด ควรเป็นกิจกรรมให้เด็กได้เล่าเรื่อง เล่านิทาน แสดงบทบาทสมมติ การแสดงละคร เกมทางภาษาต่างๆ การเล่าเหตุการณ์ประจำวัน สื่อควรเป็นสิ่งที่เด็กเคยมีประสบการณ์มาก่อน
           -การจัดประสบการณ์ด้านการอ่าน ควรเป็นกิจกรรมให้เด็กได้ใช้สายตาเคลื่อนไหวจากซ้ายไปขวาการเคลื่อนไหวจากบนลงล่าง  สื่อที่นำมามาใช้ในการจัดกิจกรรมควรเป็นภาพ หนังสือภาพ ตัวอักษรที่ทำด้วยวัสดุต่างๆ
           -การจัดประสบการณ์ด้านการเขียน ควรเป็นกิจกรรมให้เด็กได้ทำงานศิลปะต่างๆ เช่น การระบายสี
การวาดภาพ การปั้น สื่อที่นำมาใช้ในการจัดกิจกรรมควรเป็นสื่อที่ประกอบการทำงานศิลปะที่มีอยู่ทั่วไปหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ได้จากธรรมชาติ
           ดังนั้นการพัฒนาภาษาให้กับเด็กปฐมวัย ผู้ใหญ์จึงมีความสำคัญโดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการพัฒนาความพร้อมทางภาษาและเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษา
         

2561/01/29

ข้อคิดในการใข้สื่อเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาให้เด็กปฐมวัย

            การใช้สื่อสำหรับเด็กเล็กเพื่อให้เด็กมีความอยากที่จะเรียนรู้ โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านภาษาเพราะภาษามีความสำคัญต่อเด็ก ครูและผู้ใหญ่มีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือและช่วยกันในการพัฒนาภาษาให้กับเด็กโดยการจัดหาสื่อเพื่อให้เด็กเกิดประสบการณ์หรือมีทักษะในการฟัง พูด อ่านและเขียน ดังนั้นการจัดหาสื่อมีข้อควรคำนึงดังนี้
            - ด้านการฟัง สื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ควรเป็นสื่อที่มีเสียง การเล่านิทาน คำคล้องจอง บทกลอนต่างๆ เพลงกล่อมเด็ก เกมการฟังคำสั่ง เกมกระซิบ ฯลฯ
            - ด้านการพูด สื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ควรเป็นสื่อที่ผู้ใหญ่นำประสบการณ์เดิมของเด็กมาจัดให้เด็กได้พูดในรูปของการร้องเพลง การแสดงละคร การเล่านิทาน การเล่าเรื่อง การแสดงละครสร้างสรรค์ การแสดงบทบาทสมมติ ฯลฯ
            - ด้านการอ่่าน  สื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ควรเป็นภาพ หนังสือนิทาน หนังสือภาพ ตัวอักษรที่ทำจากวัสดุต่างๆ หนังสือเล่มใหญ่ ฯลฯ
            - ด้านการเขียน สื่อที่ใช้ในการจัดประสบการณ์ควรเป็นสื่อที่ใช้พัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา ส่วนใหญ่เป็นวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานศิลปะอาจจะเป็นวัสดุเหลือใช้หรือวัสดุจากธรรมชาติ เป็นต้น
            ดังนั้นการพัฒนาด้านภาษาให้เด็ก ครูและผู้ใหญ่จะต้องร่วมมือกันและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง