2560/12/25

สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาสำหรับเด็กปฐมวัย

          ภาษามีความสำคัญมากสำหรับเด็กเพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อความหมายหรือติดต่อกับบุคคลต่างๆที่แวดล้อมเด็ก เป็นพื้นฐานในการพัฒนากระบวนการรับรู้ กระบวนการคิดและสติปัญญา ผู้ใหญ่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางภาษาดังนี้
         - จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ภาษาและให้เด็กมีโอกาสในการใช้ภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
         - ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้
         - ให้กำลังใจกับเด็กเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้ภาษา
         - จัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาให้กับเด็กในลักษณะของการบูรณาการ การเรียนรู้ภาษามีลักษณะเป็นองค์รวมไม่แยกเป็นทักษะต่างๆ
         - จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับวัย และให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ครู บุคคลรอบข้าง
         - ผู้ใหญ่เป็นตัวแบบการใช้ภาษาที่ดี และมีคุณภาพ
         ดังนั้น สิ่งที่กล่าวข้างต้นผู้ใหญ่ควรมีหน้าที่และมีบทบาทที่จะต้องเป็นผู้กระทำเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาทางภาษาอย่างมีคุณภาพ

2560/11/22

ข้อควรคำนึงในการเตรียมวัสดุเพื่อการผลิตสื่อสำหรับการจัตประสบการณ์ให้เด็กปฐมวัย

                      สื่อในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก การเลือกใช้และผลิตจึงจำเป็นที่ครูรวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมและพิจารณาให้เหมาะสมตามวัยของเด็กตลอดจนคำนึงถึงวัตถุประสงค์ การจัดเตรียมวัสดุเพื่อการผลิตสื่อ เป็นสิ่งที่ครูสามารถจัดทำหรือผลิตขึ้นได้เอง โดยจัดหาวัสดุจากสิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัว อาจเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น หรือวัสดุเหลือใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการจัดแบ่งสื่อสามารถแบ่งออก
                     เป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
                      - วัสดุท้องถิ่น / วัสดุจากธรรมชาติ
                      - วัสดุเหลือใช้
                      - วัสดุที่ทำขึ้นเอง
                      - วัสดุที่ซื้อมาราคาถูก
                      ดังนั้นสื่อสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดยธรรมชาติเด็กชอบเล่นซึ่งการเรียนรู้จะผ่านการเล่นของเด็ก สื่อจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้ของเด็ก การเตรียมวัสดุสำหรับที่จะผลิตผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุดังกล่าว

2560/10/31

คำคล้องจอง ; พัฒนาเด็กปฐมวัย

              ถ้าพูดถึงคำคล้องจองแล้ว ผู้ใหญ่ส่วนมากจะเข้าใจว่าเป็นคำประพันธ์ในรูปแบบที่เป็นโคลง กลอน กาพย์ เป็นต้น ซึ่งใช้ถ้อยคำที่มีเนื้อหาสาระง่ายๆ มีความหมายไม่มากนัก เด็กพูดหรือท่องแล้วเกิดความสนุกสนานและจำได้เร็ว เมื่อนำมาใช้กับเด็กปฐมวัยจะมีความสำคัญดังนี้
              - เด็กเกิดความสนุกสนาน
              - ตอบสนองความต้องการทางธรรมชาติของเด็กในเรื่องของจังหวะ
              - เตรียมความพร้อมสู่การอ่าน
              - เรียนรู้การใช้วรรคตอน ก่อนที่จะอ่านหนังสือ
              - ช่วยให้เด็กใช้ภาษา ใช้ถ้อยคำได้อย่างหลากหลาย
              - ได้รู้คำศัพท์เพิ่มมากขึ้น
              - ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก
              - ช่วยให้ผู้ใหญ่และเด็กมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
              - ฝึกการจำและฝึกการคิด
            ดังนั้นการนำคำคล้องจองมาให้เด็กได้เรียนรู้จึงมีความสำคัญมากเพราะคำคล้องจองทำให้เด็ก
ได้พัฒนาในหลายๆด้านโดยเฉพาะด้านภาษา

2560/09/28

กิจกรรม : ส่งเสริมการพูดในเด็กปฐมวัย

       การพูดเป็นทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยดังนั้นการพูดจึงมีความสำคัญมากและจำเป็นต่อมนุษย์เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารให้ผู้อื่นได้เข้าใจเด็กจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกเพื่อให้พูดได้ถูกต้องและเหมาะสม กิจกรรมที่ควรจัดให้กับเด็กมีด้งนี้
      - จัดให้เด็กเล่นเกม ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง การเล่าเรื่องหรือเล่าข่าวประจำวัน
      - การถามคำถามและให้เด็กคิดหาคำตอบ จากการเล่านิทานหรืออ่่านนิทานให้เด็กฟัง
      - การพูดคุยกับเด็กบ่อยๆจากบุคคลแวดล้อมเด็ก
      - การเล่นบทบาทสมมติ การเล่นละครสร้างสรรค์ โดยฝึกให้เด็กแสดงเป็นตัวละครต่างๆตามความสนใจและตามจินตนาการ
      - การศึกษาตามแหล่งเรียนรู้หรือ การศึกษานอกสถานที่ ซึ่งเด็กจะได้รับประสบการณ์เพิ่มเติมทำให้เด็กมีข้อมูลในการพูดมากยิ่งขึ้น
     - การสนทนา การอภิปราย การแสดงความคิดเห็น ทำให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกพูดและได้ฝึกการรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นด้วย
     - การทดลอง เป็นกิจกรรมที่เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ได้คิด ค้นหาคำตอบ  สังเกต ฯลฯ ทำให้เด็กได้ฝึกการพูดไปด้วย
     ดังนั้นผู้ใหญ่สามารถจัดกิจกรรมต่างๆได้อย่างหลากหลายเพื่อฝึกให้เด็กได้มีพัฒนาการด้านการพูดอย่างมีคุณภาพ

2560/08/29

เด็กปฐมวัยกับการเล่น

           การเล่นเป็นกิจกรรมที่เด็กกระทำด้วยความสนใจ เป็นไปตามธรรมชาติ ด้วยความสมัครใจ เด็กได้เคลื่อนไหวและให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินกับเด็ก ประโยชน์ของการเล่นมีหลายประการดังนี้
           - เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลิน ร่าเริงแจ่มใส เกิดความผ่อนคลาย
           - เด็กได้ฝึกทักษะการคิดต่างๆ เช่น การคิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ ฯลฯ
           - ส่งเสริมให้เด็กได้สังเกต ได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ
           - ส่งเสริมให้สามารถร่วมทำกิจกรรมทั้งการเล่นและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
           - ฝึกทักษะทางกายและสมรรถภาพทางกาย
           - ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
           - เป็นโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้สังเกตพฤติกรรมต่างๆของเด็กได้อย่างชัดเจน
           - ฝึกการใช้ภาษาในการสื่อสารกับบุคคลอื่นและฝึกความเข้าใจภาษา
           การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยจึงมีความสำคัญมากเพราะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา



 

2560/07/30

แนวทางการส่งเสริมทักษะการพูดสำหรับเด็กปฐมวัย

              การส่งเสริมทักษะการพูดให้กับเด็กปฐมวัยนั้นมีปัจจัยหลายอย่างต่อการพัฒนาทักษะการพูดทั้งสภาพแวดล้อม พ่อแม่หรือบุคคลแวดล้อม ครูผู้สอน ตัวเด็กเอง เป็นต้น สำหรับแนวทางที่ส่งเสริมทักษะการพูดให้กับเด็กมีดังนี้
            - การพูดคุยกับเด็กเป็นประจำ
            - การเป็นแบบอย่างในการพูดที่ดีให้กับเด็ก
            - ให้โอกาสกับเด็กในการพูดหรือเล่าประสบการณ์ของเด็กเอง หรือให้มีการเล่าข่าวหรือเหตุการณ์ประจำวัน
           - สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีอิสระเพื่อส่งเสริมการพูดและการแสดงความคิดเห็น
           - การฝึกพูดควรเป็นสภาพที่ธรรมชาติและเด็กมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งปกติ และควร
ฝึกในกลุ่มเล็กเพื่อครูและเด็กได้มีการสื่อสารกันโดยตรง
           - ฝึกการมีมารยาทในการพูด การใช้คำพูดต่างๆอย่างเหมาะสม และถูกกาลเทศะ
           - ใช้กิจกรรมการร้องเพลง เล่นเกม ท่องคำคล้องจอง การเล่นบทบาทสมมติ
           การปฏิบัติกิจกรรมโดยใช้แนวทางดังกล่าวจะส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะการพูดอย่างมีคุณภาพ
   

2560/06/25

ข้อควรคำนึงในการฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็กปฐมวัย

    ทักษะการสังเกตมีความสำคัญต่อเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก  เป็นทักษะที่นำไปสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์เพราะการสังเกตสามารถทำให้เรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัวเด็กได้ เด็กปฐมวัยเรียนรู้สิ่งต่างๆ
โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  ทักษะการสังเกตเป็นความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้ารับขัอ
มูลเกี่ยวกับวัตถุ เหตุการณ์ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว ข้อควรคำนึงในการฝึกทักษะการสังเกตมีดังนี้
       - การฝึกทักษะการสังเกตไม่มีขอบเขตจำกัดว่าจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียน เด็กสามารถได้รับการฝึกได้ทุกหนทุกแห่ง
      - การใช้คำถามที่เหมาะสมช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นให้กับเด็ก มีประโยชน์ต่อการค้นหาคำตอบ ช่วยทำให้เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการสำรวจได้ดีขึ้น
      -  ให้เวลากับเด็กในการสำรวจตรวจสอบ ค้นหาประสบการณ์ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างเพียงพอ
     -  ไม่ควรคาดหวังให้เด็กตอบคำถามได้อย่างสมเหตุสมผลอยู่่เสมอ เพราะเด็กอาจมีข้อจำกัดบางประการในสถานการณ์ต่างๆ
    -  กิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ใช้ฝึกเด็กจะต้องไม่ยากเกินไปหรือง่ายเกินไปสำหรับวัยของเด็ก
    -  การทำซ้ำยังเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กเล็กๆ ควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้ทำซ้ำ และอย่าลิมถึงความหลากหลายของกิจกรรมด้วย
   การฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็กด้วยกิจกรรมต่างๆจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก จะนำไปสุ่การที่เด็กมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์



2560/05/31

จะจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านสติปัญญาให้กับเด็กปฐมวัยอย่างไร

        การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความพร้อมด้านสติปัญญาสิ่งสำคัญคือควรจัดประสบการณ์ให้เด็กอย่าง
เหมาะสมกับพัฒนาการ ไม่บังคับให้เด็กเรียนในสิ่งที่ยังไม่พร้อมหรือยากเกินไป หลักที่ควรยึดมีดังนี้
        - เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกันถึงแม้จะอายุเท่ากัน จึงไม่ควรเปรียบเทียบกัน
        - จัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ตามวัย เปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์และมี
ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมมากๆ
        - ให้ความสนใจและสังเกตเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อทราบลักษณะของเด็กแต่ละคน
        - ในการจัดการเรียนรู้ควรใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจลักษณะต่างๆได้ดี
        - การจัตการเรียนรู้ในเด็กปฐมวัย เด็กจะรับรู้ส่วนรวมได้ดีกว่าส่วนย่อย จึงควรจัดการเรียนรู้ในภาพ
รวมก่อนแล้วจึงแยกทีละส่วน
       - การจัดการเรียนรู้สิ่งใดให้กับเด็ก ควรเริ่มในสิ่งที่เด็กคุ้นเคยหรือมีประสบการณ์มาก่อนแล้วจึงเสนอ
สิ่งใหม่ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งเก่า การจัดในลักษณะดังกล่าวจะช่วยพัฒนากระบวนการเรียนรู้
       หากครูปฐมวัยคำนึงถึงหลักการพัฒนาความพร้อมด้านสติปํญญาดังกล่าวจะทำให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างมีคุณภาพ

2560/04/27

การเล่านิทาน/อ่านนิทานให้เด็กฟังส่งเสริมทักษะทางภาษา

     การเล่านิทานหรืออ่านนิทานให้เด็กฟังสามารถส่งเสริมทักษะทางภาษาให้กับเด็กทั้งการพูด การฟัง การรู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ การเพิ่มพูนประสบการณ์ทางภาษาและตอบสนองความต้องการของเด็กซึ่งสรุปได้ดังนี้
     - ฝึกการพูด เด็กได้ฝึกการพูด คำศัพท์ใหม่ วลี ข้อความต่างๆ คำคล้องจอง ประโยคจากนิทาน เด็กมีส่วนร่วมในการเล่านิทาน การอภิปรายเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง การวิจารณ์ การสรุปเรื่อง การตอบคำถามและการตั้งคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง การพูดเกี่ยวกับตัวละครในเรื่อง เป็นต้น
     - ฝึกการฟัง ความสนใจและการตั้งใจฟังนิทาน ทำให้เด็กสามารถจำชื่อ ลักษณะของตัวละคร ได้รู้จักและจำคำศัพท์ เนื้อเรื่องและเรื่องราวที่เกิดขึ้นในขณะที่ฟังนิทาน
     - ฝึกการสังเกต เด็กได้สังเกตและได้จดจำสิ่งต่างๆจากนิทานที่ได้ฟัง เด็กจะเกิดข้อสงสัยต่างๆ ทั้งอะไร ทำไม อย่างไร เมื่อไร ซึ่งจะต้องใช้การสังเกตอยู่ตลอดเวลาเป็นการพัฒนาสมองและเพิ่มพูน
ประสบการณ์ให้กับเด็ก
     ดังนั้นการเล่านิทานหรือการอ่านนิทานให้เด็กฟังเป็นประสบการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับเด็กปฐมวัยที่ผู้ใหญ่ต้องจัดประสบการณ์ดังกล่าวให้กับเด็กเพื่อการพัฒนาทักษะทางภาษา

2560/03/31

เด็กปฐมวัยกับการจัดประสบการณ์ด้านอนุุรักษ์สิ่งแวดล้อม

      การที่จะให้เด็กปฐมวัยได้เห็นคุณค่าและได้รับความรู้ความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม ครูควรที่จะจัดประสบการณ์ให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมต่างๆด้วยตนเอง ฉะนั้นควรที่จะจัดประสบการณ์ให้เด็กได้
เรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียนดังนี้
      - การจัดประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นกิจกรรมภายในห้องเรียนโดยครูเล่านิทาน สนทนา
การใช้คำคล้องจอง เพลง การอภิปราย การแสดงบทบาทสมมติ การเล่าข่าว การให้ดูภาพเกี่ยวกับ
สิ่งแวดล้อม ครูอาจเลือกใช้วิธีดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อให้เด็กได้มีเจตคติที่ดีและมีความรู้
ความเข้าใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
     - การจัดประสบการณ์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียนโดยให้เด็กได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่่
จริง ได้เห็นปัญหาของสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นขยะ อากาศ เป็นต้น การนำเด็กไปทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ
ในโรงเรียนและในท้องถิ่น เพื่อให้เด็กรักในสิ่งแวดล้อมและมีความรู้สึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปฏิบัติตนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
    - การจัดสิ่งแวดล้อมนอกห้องเรียน โดยจัดเพิ่มเติมจากในห้องเรียน เช่น การจัดให้มีแปลงเกษตร
การจัดให้มีสวนดอกไม้ เพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติจริงจากที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
    การจัดกิจกรรมลักษณะด้งกล่าวจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กปฐมวัยได้มีประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมตั้งแต่เล็กๆทำให้เมื่อโตขึ้นเด็กจะได้มีพฤติกรรมการอนุรักษ์สิงแวดล้อม

2560/02/28

วิธีการส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กให้กับเด็กปฐมวัย

         การส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กคือ การฝึกฝนการทำงานของการใช้มือ นิ้วมือ และการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาโดยการให้เด็กได้ฝึกการทำกิจกรรมต่างๆอย่างหลากหลาย วิธีการส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กมีดังนี้
        - การฝึกให้ช่วยเหลือตนเอง โดยให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อมือช่วยเหลือตนเองตามความสามารถ เช่น
การถอดกางเกง ใส่เสื้อ ใส่ถุงเท้า ติดกระดุม เปิดประตู ถือช้อนและส้อม ถือแก้วน้ำ เป็นต้น
       - การบริหารข้อมือ นิ้วมือ และการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา โดยฝึกการใช้ข้อมือในการวาดภาพบนกระดาษ บนฝาผนังบ้าน บนพื้นทราย ในอากาศ การระบายสีด้วยสีน้ำ สีเทียน การพับ การฉีก ตัด
ปะ การพิมพ์ภาพ การขยำ การร้อยลูกปัด การปั้น  การประดิษฐ์ การหยิบจับสิ่งของ การเล่นต่อไม้บล็อก
เป็นต้น
      - การฝึกนิ้วให้สนุก โดยการหากิจกรรมให้เด็กได้สนุกกับการขยับและเคลื่อนไหวนิ้ว เช่น ร้องเพลง
นิ้วโป้งอยู่ไหน การเล่นเกมการใช้นิ้ว การท่องคำคล้องจองประกอบการใช้นิ้ว เป็นต้น
     การฝึกฝนกล้ามเนื้อมัดเล็กดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรง คล่องแคล่ว และที่สำคัญต้องให้เด็กได้ลงมือกระทำด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเขียนต่อไป

2560/01/29

กิจกรรมศิลปสร้างสรรค์ที่จัดให้กับเด็กปฐมวัย

        กิจกรรมศิลปสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่ามือกับตา เพื่อเตรียมความพร้อมด้านการเขียนและพัฒนาทักษะพื้นฐานในการอ่าน กิจกรรมศิลปสร้างสรรค์ที่ควรจัดให้กับเด็กปฐมวัยมีดังนี้
        - การวาดและระบายสี เช่น การวาดภาพด้วยสีเทียนหรือสีน้ำ
        - การเล่นสีกับสีน้ำ เช่น การเป่าสี การเทสี การละเลงสี การหยดสี
        - การปั้น เช่น การปั้นด้วยดินน้ำมัน ดินเหนียว แป้งโด
        - การพิมพ์ภาพ เช่น การพิมพ์ภาพด้วยวัสดุต่างๆ การพิมพ์ภาพด้วยส่วนต่างๆของร่างกาย
        - ก่ารพับ ฉีก ปะ เช่น การพับกระดาษ การพับใบตอง การปะด้วยวัสดุต่างๆ
        - การประดิษฐ์ เช่น การประดิษฐ์สิ่งต่่างๆด้วยวัสดุจากธรรมชาติ  วัสดุเหลือใช้
        ดังนั้นกิจกรรมศิลปสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญต่อการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่ประสานสัมพันธ์ระหว่างตากับกล้ามเนื้อมือ การทำให้กล้ามเนื้อมือ
มีความแข็๋งแรง การส่งเสริมความคิดริเร่ิ่มสร้างสรรค์และความเพลิดเพลินในการทำงาน