2554/10/11

กิจกรรมง่ายๆเพื่อการเรียนรู้ด้านการอ่านเขียนของเด็กอนุบาล

             ความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการด้านการอ่านเขียนนั้น สิ่งสำคัญที่ควร
ระลึกเสมอคือประสบการณ์ที่จัดให้กับเด็กจะต้องสนุกสนาน เด็กไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยว่า
อ่านไม่ออก และเขียนไม่ถูกต้อง อ่านหรือเขียนทีไรผู้ใหญ่ว่าทุกครั้ง ความรู้สึกดังกล่าวจะทำให้เด็กไม่ชอบการอ่านเขียนตั้งแต่เด็กเริ่มเรียน ดังนั้นการสอนอ่านเขียนจะต้องไม่เป็นทางการและไม่เคร่งเครียด
ควรเป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้ปฏิบัติอย่างสนุกสนาน กิจกรรมอาจเป็นดังนี้
           - อ่านคำกลอนพร้อมครู    - เล่นเกมตัวหนังสือ -ครูอ่านหนังสือกับเด็ก
           - ครูอ่านหนังสือให้เด็กฟังเป็นประจำ  - กิจกรรมร้องเพลง
           - การพูดคุยซักถาม - พูดคุย และอ่านคำคล้องจอง
           กิจกรรมดังกล่าวมีจุดประสงค์ให้เด็กได้เรียนรู้ไปพร้อมกับความสนุกสนาน ไม่เน้นการสะกดคำ
ในวัยนี้ ให้เด็กได้เรียนรู้คำ พยัญชนะ สระ ฯลฯ จากกิจกรรมหรือเกมจากที่กล่าวข้างต้น 

2554/10/04

รู้สไตล์การเรียนรู้เด็กเพื่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

        การส่งเสริมศักยภาพหรือการพัฒนาศักยภาพของเด็กนั้นจำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจถึงสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน เด็กบางคนจะเรียนรู้จาการเคลื่อนไหว หรือการกระทำ แต่บางคนจะเรียนรู้ได้ดีจากการฟัง จากการดู ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่โดยเฉพาะครูที่จะต้องเฝ้ามองเด็ก สังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนดังนี้
       เด็กที่เรียนรู้จากการเคลื่อนไหว ขณะที่เรียนเด็กจะอยู่ไม่นิ่งขยุกขยิก เวลาคิดจะเหลือบมองไปข้างๆ พูดช้า
       เด็กที่เรียนรู้จากการดู เวลาเรียน เด็กจะนั่งอย่างมีสมาธิ มองไปที่กระดานดำ พูดเร็ว
       เด็กที่เรียนรู้จากการฟังขณะที่เรียน เด็กมักมองจากข้างๆ ทางด้านซ้ายหรือขวา ถ้าถนัดขวาจะมองไปทางซ้าย เวลาพูดจะมีจังหวะ
       จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะต้องสังเกตพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นของเด็กเพื่อจะได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเด็กหรือเตรียมสื่อให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน

2554/10/02

พฤติกรรมรักการอ่านของเด็กเล็ก

               การที่จะให้เด็กมีพฤติกรรมรักการอ่านนั้น ผู้ใกล้ชิดเด็กไม่ว่าครู พ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นจะต้อง
เข้าใจถึงพฤติกรรมที่แสดงถึงการรักการอ่านของเด็ก เพื่อเราจะได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รักการอ่าน จนกลายพฤติกรรมรักการอ่านเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งมีดังนี้
              -  ทำท่าทางอ่านหนังสือโดยไม่สนใจ
              -  อ่านข้อความ คำที่มีตัวอักษรที่เห็นอยู่เป็นประจำ
              -  ดูหนังสือที่มีเรื่องที่ชอบ
              -  อ่านและคัดลอกหรือเขียนทับตัวอักษรของผู้ใหญ่
              -  อ่านและเขียนตัวแบบขีดเขี่ย
              -  พูดข้อความในหนังสือด้วยภาษาของตนเอง
              -  กวาดตามองข้อความตามบรรทัด
                                   ฯลฯ
             ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของพฤติกรรมเริ่มแรกเท่านั้น ถ้าเด็กได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีแล้ว เชื่อแน่ได้เลยว่าเด็กจะรักการอ่านเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่