2557/07/31

แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย

           ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กควรร่วมมือกันที่จะทำให้เด็กมีคุณลักษณะสำคัญอย่างเช่น ความอดทน ความภูมิใจในตนเอง ความสนใจใฝ่รู้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนความคิดและมีความรู้ในเรื่องต่างๆดังนี้
          - การฝึกให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการลองผิดลองถูก ผู้ใหญ่ไม่ควรคาดหวังในตัวเด็กแต่ควรพอใจเมื่อเด็กสนใจในเรื่องรอบตัว รู้จักการตั้งคำถามต่างๆ
          - ปลูกฝังหรือสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กด้วยการอ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้เด็กฟัง
          - สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการเรียนรู้โดยการจัดหาอุปกรณ์ ที่เหมาะสมและปลอดภัย พาไปแหล่งเรียนรู้ต่างๆ
          - ปลูกฝังความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ
          - ให้ความสำคัญกับกระบวนการมากกว่าผลผลิต
          - ฝึกให้เด็กได้คิดแก้ปัญหาต่างๆ โดยเริ่มจากเหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบัน
          - ปลูกฝังความเป็นตัวตนของเด็ก โดยการให้เด็กได้ค้นพบตนเอง
          ถ้าผู้ใหญ่ได้เข้าใจและมีความรู้ดังกล่าวแล้วนำไปสู่การปฏิบัติจะทำให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาอย่างมีคุณภาพต่อไป

2557/07/29

ประโยชน์ของการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย

                 การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์สามารถจัดการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ปฐมวัย ซึ่งทำให้เด็กได้รับการปลูกฝังการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ตั้งแต่เล็กๆ โดยสามารถส่งเสริมให้เด็กสนใจ อยากรู้ สังเกต ทดลองและถามคำถาม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะทำให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่สงสัยและเข้าใจโลกที่อยู่ การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์นี้ทำให้เด็กได้พัฒนาดังนี้
                - พัฒนาและส่งเสริมด้านการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5
                - เกิดความรู้พื้นฐานจากการไ้ด้สืบค้น
                - มีทักษะในการสังเกต
                - ได้ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับชีวิต
                - รู้จักวิธีการแก้ปัญหาโดยมีผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุน
                ดังนั้น การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์  หากเราส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กตั้งแต่ปฐมวัยเด็กก็จะมีพัฒนาและประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมต่อไป

2557/07/21

เครื่องเล่นสนามที่ควรจัดให้กับเด็กปฐมวัย

        เครื่องเล่นสนามเป็นอุปกรณ์ที่จัดให้กับเด็กในการที่เด็กได้ไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อเด็กได้มีโอกาสออกกำลังกายและแสดงออกอย่างอิสระ การทำกิจกรรมดังกล่าวทำให้เด็กได้พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญา สำหรับเครื่องเล่นสนามเป้นเครื่องเล่นที่เด็กอาจปีน ป่าย หมุน โยก ฯลฯ จัดทำในรูปแบบต่างๆกันเพื่อเป็นการฝึกกล้ามเนื้อใหญ่ให้กับเด็ก เช่น
       - เครื่องเล่นสำหรับปีนป่าย เช่น โคม ตาข่าย สำหรับปีน ที่ปีนแบบโค้ง
       - เครื่องเล่นสำหรับโยกหรือไกว เช่น ม้าไม้ ชิงช้า ม้านั่งโยก
       - เครื่องเล่นสำหรับหมุน เช่น ม้าหมุน พวงมาลัยรถสำหรับหมุนเล่น
       - เครื่องเล่นลักษณะโหน เช่น บาร์โหน รางโหน  บาร์คู่ขนาดเล็กสำหรับเด็ก
       - เครื่องเล่นสำหรับไต่ เช่น ราวไต่หรือต้นไม้สำหรับหัดเดินทรงตัว
       - อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไม้ลื่น อุโมงค์ลอด
     ดังนั้นการจัดกิจกรรมกลางแจ้งโดยให้เด็กได้เล่นเครื่องเล่นสนามจึงมีความจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย หากผู้ใหญ่ไม่สามารถหาเครื่องเล่นดังที่กล่าวได้ ก็สามารถใช้วัสดุทดแทนได้อาจจะเป็นเชือกหรือขอนไม้ เป็นต้น

จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัย

            ละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นกิจกรรมการแสดงบทบาทสมมติโดยมีจุดประสงค์ที่สำคัญในการพัฒนาเด็กเป็นสำคัญ ไม่มีผู้ชมที่เป็นทางการ เน้นกระบวนการในการพัฒนาเด็กระหว่างขั้นตอนต่างๆ เด็กๆจะสวมบทบาทดำเนินกิจกรรมตามเงื่อนไขที่วางไว้หรือบทบาทที่สมมติขึ้น ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความสมบูรณ์แบบของละคร มีจุดประสงค์ที่สำคัญดังนี้
          - พัฒนาด้านร่างกาย การเคลื่อนไหวในลักษณะต่างๆ ลีลาท่าทางและการแสดงออก
          - ฝึกการใช้จินตนาการ
          - พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆต้องใช้ความคิดในขณะทำกิจกรรม
          - พัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกัน
          - พัฒนาภาษาด้วยการสื่อสารจากภาษาพูด
          - ฝึกการแสดงบทบาทสมมติในสถานการณ์ต่างๆ
          - ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ผ่านการละครที่เป็นไปโดยวิธีธรรมชาติ
          ฉะนั้นการใช้กิจกรรมละครสร้างสรรค์มีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยหลากหลายประการ แต่ก่อนที่จะให้เด็กได้แสดงละครนั้นครูจะต้องฝึกเด็กด้านทักษะต่างๆก่อนที่จะให้เด็กมีความพร้อมในการแสดง