2554/02/27

การเล่นเกมการเล่นและเกมการศึกษา

                    กิจกรรมที่เรารู้จักว่าเป็นการเล่นเกมการละเล่นนั้นคือสิ่งที่ผู้ใหญ่จัดให้เด็กเล็กได้เล่น  อาจจะเป็นการเล่นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่  การเล่นสำหรับเด็กเล็กควรเป็นเกมการละเล่นที่มีกติกาไม่ยุ่งยากนัก   จุดประสงค์ให้เด็กได้เกิดความสนุกสนาน  และพัฒนาการด้านร่างกายโดยเฉพาะกล้ามเนื้อใหญ่   ครูเป็นผู้อธิบายให้เด็กได้เข้าใจก่อนการเล่น      ส่วนเกมการศึกษา      เป็นเกมการเล่นที่ช่วยพัฒนาการด้าน
สติปัญญา   มีกติกาง่ายๆ  เด็กสามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มก็ได้     จุดประสงค์คือการพัฒนา
สติปัญญาในเรื่องการฝึกให้เด็กได้รู้จักการสังเกต    การคิดหาเหตุผล   การฝึกความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสี  รูปร่าง  จำนวน  ประเภท  การแก้ปัญหา  เป็นต้น  เกมการศึกษา ที่นำมาให้เด็กได้เล่นเพื่อการพัฒนาได้แก่   เกมจับคู่   เกมเรียงลำดับ โดมิโน   ลอตโต   ภาพตัดต่อ   เกมจัดหมวดหมู่    เป็นต้น    ทั้งการเล่น
เกมการละเล่นและเกมการศึกษา   ครูผู้สอนจะต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการจัดกิจกรรม   ตลอดจนวิธีการ   และเตรียมสื่อวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมจึงจะเกิดการพัฒนาเด็กเล็กอย่างมีคุณภาพ   

2554/02/14

ผู้ปกครองกับความเข้าใจในเรื่องเด็กกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

                                 เด็กปฐมวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะนั้น  ผู้ปกครองมีความสำคัญในเรื่องการ
จัดประสบการณ์ให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าว  คือผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจและร่วมมือกับครูในการจัดการ
ศึกษาให้กับเด็กทั้งกลุ่มปกติและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ  เด็กกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะหมายถึงเด็ก
ประเภทต่างๆ ดังนี้
                                
                                 -   เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
                                 -   เด็กพิการ  เด็กที่มึความบกพร่องทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้  ทางการได้ยิน
ทางการเห็นและทางอารมณ์  จิตใจ  สังคม  เด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง
                                 -   เด็กด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ  และสังคม
                                 -   เด็กที่ถูดละเมิดทางร่างกาย  จิตใจ  รวมทั้งการละเมิดทางเพศ
                                 ดังนั้นเมื่อผู้ปกครองร่วมมือกับครูในการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัยตั้งแต่เล็กๆ
โดยให้ความสำคัญกับเด็กทั้งสองกลุ่มที่กล่าวแล้วข้างต้น  ก็จะส่งผลต่อคุณภาพของเด็กปฐมวัย

2554/02/06

การเรียนรู้ตามแนวมอนเตสซอรี่

                                   การเรียนรู้ตามแนวการเรียนการสอนมอนเตสซอรี่  เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ให้ความ
สำคัญกับศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล   ผู้ริเริ่มปรัชญาและแนวคิดนี้  คือ  Dr. Maria  Montessori
แพทย์ชาวอิตาลี  การเรียนการสอนแนวมอนเตสซอรี่ ครูผู้สอนมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะ
ต้องเข้าใจถึงปรัชญา  หลักการ  และแนวคิดที่ถูกต้อง   สามารถนำไปสู่การปฏิบัติซึ่งต้องได้รับการฝึก
อบรมอย่างเป็นขั้นตอน   ผ่านการทดสอบตามที่กำหนด  ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงบทบาท  หน้าที่หลักของ
ครูมอนเตสซอรี่มีดังนี้
                                  1   จัดเตรียมสภาพแวดล้อม สื่อ  อุปกรณ์ให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเด็ก
ในบรรยากาศการเรียนรู้ที่มีความอบอุ่นและสบายใจ
                                  2    แนะนำวิธีการใช้สื่ออุปกรณ์เพื่อให้เด็กได้รู้จักวิธีการใช้  ตลอดจนรู้วัตถุประสงค์
ของสื่อ
                                  3   ให้อิสระเด็กในการปฏิบัติกิจกรรม  โดยให้เด็กปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องจน
สำเร็จก่อน  จากนั้นเปิดโอกาสให้เด็กได้พัฒนาตามความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์  จากสื่อที่ปฏิบัติตาม
ช่วงเวลาที่เด็กสนใจ
                                 4  สังเกตการทำงานของเด็ก  เพื่อปรับและพัฒนาสภาพแวดล้อมสื่ออุปกรณ์ให้
สอดคล้องกับเด็กและศักยภาพของเด็กยิ่งขึ้น   โดยไม่เข้าไปขัดจังหวะ
                                  สิ่งดังกล่าวเป็นบทบาท   และหน้าที่หลักของครูซึ่งจัดการเรียนการสอนที่นำแนวมอนเตสซอรี่มาใช้

2554/02/03

มาเข้าใจวัฒนธรรมการอ่านของเด็กปฐมวัย

                               ตอนนี้เราหรือผู้ใหญ่มารณรงค์ให้เด็กมีพฤติกรรมรักการอ่าน จนกระทั่งต้องการให้
เด็กมีวัฒนธรรมในการอ่าน   สำหรับคำที่กล่าวข้างต้นเรามีความเข้าใจอย่างไรบ้าง  ถ้าเราเข้าใจตรง
กันแล้วจะทำให้สามารถดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้อย่างถูกต้องและทำให้สถานการณ์ในการอ่าน
ของคนไทยมีแนวโน้มดีขึ้น  ความหมายของวัฒนธรรมในการอ่าน  หากพูดง่ายๆคือ  การที่เด็กมี
พฤติกรรมการอ่านอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นนิสัยของบุคคลในทุกแห่งของการดำเนินชีวิตของ
มนุษย์   โดยที่ผู้มีพฤติกรรมการอ่านรู้สึกเห็นคุณค่า    เห็นประโยชน์จากการอ่าน   และมีเจตคติที่
ดีต่อการอ่าน  จนเกิดการถ่ายทอด  ส่งเสริม  การอ่านไปสู่ผู้อื่น     วัฒนธรรมดังกล่าว พูดง่ายๆคือ
จะต้องเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม  ระบบคิด  คุณค่า  ความเชื่อในวิถีชีวิตของบุคคล  จนยึดถือกลาย
เป็นชีวิตประจำวันของคน  และมีการถ่ายทอดในกลุ่มบุคคล หรือจากรุ่นสู่รุ่น     ดังนั้นเมื่อทุกคน
มีความเข้าใจในวัฒนธรรมดังกล่าวตรงกัน  โดยเฉพาะครูเด็กเล็กๆซึ่งจะต้องวางรากฐานการอ่าน
จะต้องรวบรวมความรู้ความสามารถและปฏิบัติร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน
ให้ได้ตั้งแต่แรก

2554/02/01

ฝึกทักษะการสังเกตให้กับเด็กอย่างไรขณะทัศนศึกษา

                    ทักษะการสังเกตในเด็กเล็กมีความสำคัญมากต่อกระบวนการเรียนรู้ทุกชนิด   การสังเกต
เป็นความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ได้แก่  หู  ตา
จมูก  ลิ้น  และผิวกาย  โดยประสาทสัมผัสดังกล่าวเข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือปรากฎการณ์ต่างๆ
การสังเกตถือว่าเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานขั้นแรกที่มีความสำคัญมากที่สุดต่อการ
เรียนรู้ ขณะเด็กมีกิจกรรมทัศนศึกษาควรฝึกทักษะการสังเกตดังนี้
                    -  ให้เด็กได้ฝึกทักษะในการใช้ประสาทสัมผัสขณะดำเนินกิจกรรมให้มากที่สุด
                    -  ฝึกการสังเกตจากสิ่งที่ง่ายและส่วนที่ใหญ่ก่อน  แล้วจึงสังเกตสิ่งที่เล็กและซับซ้อนขึ้น
ตามลำดับ
                    -  ผู้ใหญ่จะต้องช่วยให้เด็กเกิดความสนใจในสิ่งต่างๆก่อนเมื่อเด็กเกิดความสนใจแล้วเด็ก
จะมีความต้องการสังเกตเอง
                    -  ส่งเสริมให้เด็กมีการสังเกตอย่างต่อเนื่อง  และได้เห็นถึงความแตกต่างของสิ่งที่สังเกต
                    -  ข้อมูลต่างๆที่เด็กมีอยู่  ผู้ใหญ่จะต้องส่งเสริมและช่วยในการตัดสินใจให้กับเด็ก
                    ถ้าครูหรือผู้ใหญ่ได้ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะการสังเกตขณะพาเด็กไปทัศนศึกษาแล้ว
และฝึกอย่างต่อเนื่อง   ทักษะนี้ก็จะเป็นพฤติกรรมที่ติดตัวเด็กไปจนโต  เด็กก็จะเป็นคนที่ช่างสังเกตเมื่อ
เขาเป็นผู้ใหญ่