2555/11/28

กิจกรรมสร้างสรรค์ : การปั้นดินน้ำมัน

              กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลายประเภท การปั้นเป็นกิจกรรมหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ครูจัดให้เด็กได้เลือกทำเพื่อเป็นการพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ  การปั้นเป็นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องให้เด็กปั้นดินน้ำมันเท่านั้น อาจใช้วัสดุอื่นมาแทนได้ วัสดุแต่ละอย่างย่อมมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น
              - ปั้นดินเหนียว วัสดุหาง่าย จะช่วยสนองความต้องการที่จะได้สัมผัสกับสิ่งที่เหลวและเหนอะหนะ(สำหรับบางคน)
              - ปั้นแป้ง(โด) วัสดุมีความนุ่มดีกว่าดินหรือดินน้ำมันทำให้ปั้นได้ง่าย สามารถผสมสีอาหารลงไปซึ่งทำให้เด็กมีความสนใจที่จะปั้น
              - ปั้นแป้งทำขนม เมื่อเด็กปั้นจะทำให้เด็กตื่นเต้นในการทำกิจกรรมและเด็กๆทุกคนได้รับประทานด้วย อย่างเช่นการปั้นขนมบัวลอย เป็นต้น
              ดังนั้นการให้เด็กได้ทำกิจกรรมด้วยการปั้นมีความหมายและความสำคัญในการพัฒนาเด็กอย่างหลากหลายทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยที่ผู้ใหญ่จะต้องคอยส่งเสริมสนับสนุนในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

2555/11/26

หลักการจัดการศึกษาปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปว.พุทธศักราช 2546

                           หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยพุทธศักราช 2546 ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับหลักการจัดการศึกษาปฐมวัยที่มีแนวคิดทำให้เด็กได้พัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญาอย่างเต็มศักยภาพหากผู้ใหญ่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ยึดหลัการดังกล่าว ซึ่งได้แก่
                           - แนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก ซึ่งมีการพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและต่อเนื่อง
                           - แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ ที่ผู้ใหญ่ส่งเสริมสนับสนุนด้วยการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก
                           - แนวคิดเกี่ยวกับการเล่นของเด็ก เด็กเรียนรู้จากการเล่น
                           - แนวคิดเกี่ยวกับวัฒนธรรมและสังคมซึ่งเป็นบริบทแวดล้อมเด็กที่แตกต่างกันไป
                           ทั้งหมดที่กล่าวเป็นหลักการสำคัญในการจัดการศึกษาให้กับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับครอบครัว สังคม ชุมชน หมู่บ้าน และในระดับประเทศซึ่งผู้ใหญ่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำเพื่อเด็ก

2555/11/23

สิ่งแวดล้อมของโรงเรียน : การพัฒนาพฤติกรรมเด็กปฐมวัย

                 สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนมีผลต่อการพัฒนาพฤติกรรมเด็ก อย่างเช่นการที่เด็กมีเพื่อนๆ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการมีความวินัย การเล่นร่วมกัน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ การที่เด็กได้เล่นหรือทำงานด้วยกัน
ซึ่งเด็กแต่ละคนมาจากครอบครัวที่มีการอบรมเลี้ยงดูที่มีความแตกต่างกัน จะทำให้เกิดการถ่ายทอดพฤติกรรมหรือลักษณะนิสัยให้แก่กันและกัน ขณะเดียวกันครูซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นคนสำคัญที่สุดเมื่อเด็กมาโรงเรียนก็จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาพฤติกรรมเด็กด้วย เด็กจะเชื่อฟังครูเป็นอย่างยิ่ง เด็กเล็กจะเชื่อฟังครูมากกว่าพ่อแม่ และคอยเลียนแบบพฤติกรรมหรือการกระทำต่่างๆของครู การที่ครูคอยดูแลแนะนำสั่งสอน ตลอดจนคอยตักเตือนเด็กอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการวางรากฐานพฤติกรรมต่างๆให้กับเด็กที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ
              - ความมีระเบียบวินัย การตรงต่อเวลา
              -  การอดทนรอคอย
              - การเคารพข้อตกลง ความมีวินัยในตนเอง เป็นต้น
              พฤติกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวางรากฐานชีวิตของมนุษย์และการอยู่ร่วมกันในสังคม ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนๆมีความสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก

              

2555/11/10

พ่อ แม่กับบทบาทหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก

                      พ่อ แม่มีความสำคัญยิ่งต่อการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย การรู้และสามารถทำตามบทบาทหน้าที่นั้นมีความจำเป็นต่อการวางรากฐานชีวิตของเด็กก่อนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งพอจะกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ได้ดังนี้
                      -  ตอบสนองความต้องการของเด็กด้านร่างกาย เช่น การให้อาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ การส่งเสริมการออกกำลังกาย การเอาใจใส่เรื่องการพักผ่อน การฝึกหัดเรื่องสุขนิสัยต่างๆ การป้องกันโรค เป็นต้น
                      -  ตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยา เช่น การให้ความรักความอบอุ่นอย่างเพียงพอ การปฏิบัติต่อเด็กในเรื่องความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว การให้อิสรภาพและความเป็นตัวของตัวเองกับเด็ก
                      -  ส่งเสริมความสนใจของเด็ก เช่น จัดหาอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมต่างๆ การพาออกไปศึกษาตามสถานที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้
                      -  ถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี เช่น การอบรมมารยาทในสังคม การปลูกฝังและฝึกฝนคุณธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม สร้างความตระหนักต่อการเห็นคุณค่าในสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและประเพณี
                      -  ส่งเสริมการพัฒนาการทางสติปัญญา เช่น ฝึกการใช้ความคิด การให้เด็กมีสมาธิ
                     ดังนั้นบทบาทหน้าที่ดังกล่าวเป็นภาระที่พ่อแม่ทุกคนจะต้องปฏิบัติเพื่อการวางรากฐานให้กับลูก และไม่ควรปล่อยเวลาที่สำคัญในช่วงนี้ไป

2555/11/04

เรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้ปฏิบัติ

           เด็กจะเกิดการเรียนรู้หรือเรียนรู้ได้ดีเมื่อเด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเองไม่ใช่จากการบอกเล่าจากผู้ใหญ่หรือครู เพราะการได้ลงมือปฏิบัติเป็นการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆรับรู้ข้อมูลทั้งการได้รับฟังเสียง การเห็น การได้สัมผัส ฯลฯ กิจกรรมที่เด็กได้ปฏิบัตินั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูสามารถจัดได้อย่างหลากหลาย เช่น
           -  การทดลองกิจกรรมวิทยาศาสตร์
           -  การแสดงบทบาทสมมติ
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการฟัง
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือทำ
           -  การจัดสถานการณ์จำลองผ่านการบูรณาการการฟังและการดู
                                  ฯลฯ
           ดังนั้น การที่เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมดังที่กล่าวข้างต้นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก หรือกระบวนการทำงานของสมองก็จะเกิดการทำงานอย่างมีคุณภาพ ส่่งผลต่อการพัฒนาเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย