2557/01/30

การฝึกทักษะการสังเกตให้แก่เด็กปฐมวัย

              การฝึกทักษะการสังเกตให้แก่เด็กปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างมากและจะต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็กยังเล็กอยู่ การฝึกทักษะนี้เป็นการฝึกการใช้ประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกันได้แก่ผิวกาย ตา หู จมูก และลิ้น เข้าไปสัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือเหตุการณ์ ปรากฏการณ์เพื่อค้นหาข้อมูลอย่างละเอียด ถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ โดยไม่ใช้ความรู้สึก ความคิดของผู้สังเกตเข้าไปเกี่ยวข้อง ในด้านวิทยาศาสตร์การสังเกตเป็นทักษะพื้นฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การเป็นนักวิทยาศาสตร์นั้นต้องเป็นผู้มีความชำนาญ มีความละเอียดถี่ถ้วนซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกทักษะการสังเกตตั้งแต่เป็นเด็กปฐมวัย เช่น
           -ฝึกการเห็น เป็นการสังเกตที่ใช้ตาช่วยในการสังเกตลักษณะและสมบัติของวัตถุ
           -ฝึกการได้ยิน เป็นการสังเกตที่ใช้หูช่วยในการสังเกตลักษณะและสมบัติของวัตถุ
           -ฝึกการสัมผัส เป็นการสังเกตที่ใช้ผิวกายช่วยในการสังเกตถึงความหมายหรือความละเอียดของเนื้อวัตถุถึงขนาดและรูปร่างของวัตถุ
           -ฝึกการชิม เป็นการสังเกตที่ใช้ลิ้นช่วยในการสังเกตสมบัติของสิ่งของ
           -ฝึกการได้กลิ่น เป็นการสังเกตที่ใช้จมูกช่วยในการสังเกตความสัมพันธ์ของวัตถุกับกลิ่นที่ได้พบ
           ดังนั้นการฝึกการสังเกตนั้นเด็กปฐมวัยต้องได้รับการฝึกทักษะดังกล่าวตั้งแต่แรกเป็นต้นไป


2557/01/28

สิ่งสำคัญต่อการเรียนรู้ทางภาษาของเด็กปฐมวัย

        การเรียนรู้ทางภาษาจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำให้เด็กได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติด้วยตัวของเด็กเอง และสิ่งที่สำคัญต่อการเรียนรุ้ภาษาของเด็กทึ่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
       - ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากผู้ใหญ่ ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและครู โดยเฉพาะครูเป็นบุคคลสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมต่อยอดการเรียนรู้ให้กับเด็ก
       - ให้โอกาสเด็กในการใช้ภาษา ในการเรียนรู้ครูต้องฝึกเด็กให้มีความมั่นใจและให้โอกาสแก่เด็กทุกคนได้มีการฝึกฝนในการสื่อสาร
       - จัดทำและหาสื่อวัสดุที่น่าสนใจ โดยจะต้องพิจารณาการใช้สื่อให้เหมาะสมและน่าสนใจตลอดจนสอดคล้องกับเนื้อหาในการสอน
       - ฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเอง  การฝึกปฏิบัติมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ทางภาษาไม่ว่าจะเป็นทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียน
       ดังนั้นครูปฐมวัย และผู้ใหญ๋ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กจะต้องดำเนินการด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอเพื่อให้มีพัฒนาการทางภาษาอย่างมีคุณภาพ

2557/01/13

ประโยชน์ของปริศนาคำทายสำหรับเด็กปฐมวัย

           ปริศนาคำทายสำหรับเด็กปฐมวัยนั้นครูหรือผู้ใหญ่มักจะถามด้วยคำว่าอะไรเอ่ย มีลักษณะเป็นคำถามที่เป็นร้อยกรองโดยใช้คำสัมผัสคล้องจองแบบสันๆ มีความยาวไม่มากนักเป็นการนำเนื้อหาที่ต้องการให้เด็กคิดและหาคำตอบมาผูกเป็นคำถาม เมื่อนำมาถามเด็กจะทำให้น่าฟังและมีประโยชน์คือ
           - เป็นการเตรียมความพร้อมทางภาษาในการฝึกฟัง พูด อ่าน และเขียนให้แก่เด็ก
           - ช่วยพัฒนาทักษะทางด้านภาษาไทย และเป็นการปลูกฝังให้เด็กได้ซึมซับบทกวีหรืองานประพันธ์
           - เด็กได้รับการจัดประสบการณ์เสริมโดยการถาม-ตอบปริศนาคำทายอะไรเอ่ย
           - ปริศนาคำทายมีการสอนคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก เช่น ความเมตตา ความมีวินัย ฯลฯ
           - เป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน นักเรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
           - ได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานเพลิดเพลิน
           - ปลูกฝังและภูมิใจในความเป็นคนไทยให้กับเด็กตั้งแต่เล็กๆ
           การนำปริศนาคำทายดังกล่าวมาประกอบการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีพัฒนาทางด้านภาษาเป็นอย่างดีทั้งทักษะการฟัง พูด อ่าน และเขียนซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อไป

2557/01/07

กิจกรรมการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัยช่วยพัฒนาสมอง

            การที่่เด็กปฐมวัยได้เคลื่อนไหวนั้นส่งผลต่อการพัฒนาสมองของเด็ก เด็กในช่วงปฐมวัยเป็นระยะที่สมองบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างการพัฒนาการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวเป็นตัวกระตุ้นให้สมองเกิดการพัฒนา การเคลื่อนไหวของเด็กมีหลายแบบต่างๆกัน สำหรับกิจกรรมการเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์มีความสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมดังนี้
           - จัดกิจกรรมให้เด็กสำรวจรูปร่าง/ หน้าตา และอวัยวะส่วนต่างๆของตนเอง
           - จัดกิจกรรมสร้างสรรทำท่าทางส่วนต่างๆของร่างกายด้วยตนเอง เช่น การยืด โค้ง งอ บิด เอี้ยว เปิด ปิด แคบ กว้าง เล็ก ใหญ่ สั้น ยาว ฯลฯ
           - จัดกิจกรรมการเคลื่อนที่ของร่างกายส่่วนต่างๆในพื้่นที่ส่วนตัวและบริเวณทั่วไปโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนระดับ ทิศทาง และน้ำหนัก
           การฝึกให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายในเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าวมีผลให้มีการพัฒนาการทางสมอง นอกเหนือจากการพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ และสังคม

2557/01/06

บทบาทพ่อแม่ ครูในการส่งเสริมการคิดให้กับเด็กปฐมวัย

                พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดได้อย่างหลากหลายวิธี โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง และการพัฒนาการคิดของเด็กจะค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างทันทีทันใดดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรมีบทบาทดังนี้
               - ฝึกให้เด็กได้ฝึกการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เช่น ตา หู จมูก ปาก และกาย
               - ใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้เกิดการคิด และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาเมื่อเด็กมีปัญหา
               - จัดสื่อ อุปกรณ์ ของเล่นต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กเกิดการคิดหรือดัดแปลงได้
               - จัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้ค้นคว้าอยู่เสมอ ตลอดจนเหมาะสมสอดคล้องกับพัฒนาและความสนใจของเด็ก
               - จัดกิจกรรมในรูปแบบการเล่นเกม กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นต้น
               ดังนั้นการพัฒนาการคิดให้กับเด็กต้องเริ่มตั้งแต่่เด็กยังเล็ก ให้เด็กได้มีโอกาสคิดและฝึกอย่างต่อเนื่องในการทำกิจกรรมต่างๆ

2557/01/05

การพูดทักษะสำคัญในการสื่อสารของเด็กปฐมวัย

           การฝึกให้เด็กปฐมวัยพูดเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพราะการพูดเป็นเครื่องมือสำคัญของการติดต่อสื่อสารที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิดของเด็ก สิ่งที่จะต้องฝึกให้เด็กพูดมีดังนี้
           - เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ โดยให้พูดอย่างคล่องแคล่วและเป็นธรรมชาติ
           - ให้เด็กพูดอย่างชัดเจน อย่างเช่นเสียงที่เป็นปัญหา" ส " และฝึกให้เด็กพูดด้วยความมั่นใจ พูดให้น่าฟัง
           - ฝึกให้เด็กรู้จักใช้คำสุภาพ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ โดยให้ใช้อย่างสม่ำเสมอ
           - พูดประโยคให้ถูกต้องจนเป็นนิสัย เช่น เปล่าทำ ควรให้เด็กพูดว่าไม่ได้ทำ เป็นต้น
           - ฝึกให้มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นด้วยคือมีความสามารถในการเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูดด้วยจึงจะพูดตอบโต้ได้ถูกต้อง
          - ฝึกให้เล่าเรื่องในชีวิตประจำวัน เช่น ไปเที่ยว ไปตลาด ไปสวนสัตว์ เป็นต้น
          - ให้และฝึกหลักภาษาง่ายๆ เช่น คำบางคำมีความหมายได้หลายอย่าง การออกเสียงวรรณยุกต์
          การพัฒนาการพูดมีความสำคัญเช่นเดียวกับทักษะอื่นๆในการใช้ภาษาไม่ว่าจะเป็นการฟัง อ่านหรือเขียน ผู้ใหญ่จึงควรมีความตระหนักเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาเด็กให้มีความพร้อมทางภาษา

2557/01/02

การจัดห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัย

                     การจัดพื้นที่ภายในห้องเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยสิ่งสำคัญอันดับแรกต้องคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งต่อมาคือความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความรู้สึกของเด็กเมื่ออยู่ในห้องคือความอบอุ่นเสมือนอยู่ที่บ้าน มีความสุข ผ่อนคลาย พื้นที่จะต้องมีให้เด็กได้ทำกิจกรรม ได้เคลื่อนไหว มีมุมประสบการณ์ต่างๆ สำหรับพื้นที่ที่เรียกว่าอำนวยความสะดวกแก่เด็กและครูควรมีลักษณะดังนี้
                    - ป้ายนิเทศตามหน่วยการเรียนรู้หรือสิ่งที่เด็กสนใจ
                    - ที่แสดงผลงานของเด็ก
                    - ที่เก็บเครื่้องใช้ส่วนตัวของเด็ก
                    - ที่เก็บเครื่องใช้ของผู้สอน
                    - ที่เก็บแฟ้มผลงานของเด็ก อาจจัดทำเป็นกล่องหรือจัดใส่เป็นแฟ้มรายบุคคล
                   การจัดห้องเรียนในส่วนของพื้นที่ดังกล่าวนี้มีความจำเป็นสำหรับเด็ก ครูต้องคำนึงถึงเด็กเป็นตัวตั้งและให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนที่อยู่ในห้อง เพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ