2558/12/31

กิจกรรมการประกอบอาหารสู่การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

         การจัดประสบการณ์ประกอบอาหารให้กับเด็กปฐมวัยจะทำให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา สำหรับด้านสติปัญญาเด็กจะได้รับการพัฒนาดังนี้
         - ภาษา เด็กได้เรียนรู้จากการได้ฟังและปฏิบัติตามวิธีทำ ได้เรียนรู้คำศัพท์จากการทำอาหาร ชื่อส่วนประกอบของอาหาร ได้อ่านป้ายส่วนผสมที่ครูติดไว้
         - วิทยาศาสตร์ ได้ดูการเปลี่ยนสถานะของสสาร เช่น นำ้ตาลทรายละลายในน้ำร้อน  น้ำถูกความร้อนจะมีไอลอยขี้นมา
         - คณิตศาสตร์  ได้จาการนับจำนวน การตวงสิ่งต่างๆ การหั่นของเป็นส่วนต่างๆ
         - สังคมศึกษา ได้เรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่ม การเรียนรู้อาหารไทยมาจากไหน แหล่งผลิตอาหารต่างๆ
         - สุขภาพและความปลอดภัย ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างสุขนิสัยที่ดี เช่น การล้างมือ การล้างภาขนะ
         การจัดประสบการณ์ประกอบอาหารจึงเป็นการจัดกิจกรรมที่ทำให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาในทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสติปัญญา
 

2558/11/26

แนวทางการส่งเสริมความคิดด้านเหตุผลให้กับเด็กปฐมวัย

      การส่งเสริมความคิดให้กับเด็กปฐมวัยให้มีเหตุผลนั้นผู้ใหญ่ควรให้เด็กได้แสดงออกด้วยการกระทำหรือการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆโดยให้เด็กได้คิดแก้ปัญหา ค้นหาสิ่งใหม่ๆ และวิธีการต่างๆซึ่งเด็กได้เรียนรู้จากสิ่งที่กระทำดังกล่าว ดังนั้นจึงสมควรส่งเสริมให้เด็กมีความคิดด้านเหตุผลดังนี้
      - จัดสื่อและอุปกรณ์ ของเล่นต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กได้คิดหรือดัดแปลงต่างๆ
      - ใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิด และหาทางแก้ไขเมื่อพบกับปัญหา
      - จัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมต่างๆที่ส่งเสริมให้เด็กได้คิดอย่างต่อเนื่อง
      - จัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่เน้นการสังเกต การจำแนก


การเปรียบเทียบ การจัดประเภท การสื่อสาร ฯลฯ
      - จัดกิจกรรมที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้กระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เช่่น การทดลอง การตั้งสมมติฐาน หรือการทดสอบ ฯลฯ
      ดังนั้นพ่อแม่ ครู ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมการคิดด้านเหตุผล

2558/10/28

บทบาทครู พ่อแม่ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมอง

         การรับรู้หรือการเรียนรู้ของสมองนั้นเป็นที่รับรู้ว่าสมองของเรามีสองซีก พูดง่ายๆสมองซีกซ้ายจะเรียนรู้ในเรื่องการทำความเข้าใจด้านภาษา รายละเอียด ส่วนสมองซีกขวาจะเรียนรู้และทำความเข้าใจด้านมิติ ความรู้สึก ภาพรวม เป็นต้น ดังนั้นครู พ่อแม่สามารถจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการพัฒนาสมองได้ดังนี้
         - เปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น และเลือกเล่นด้วยตนเองอย่างอิสระ
         - จัดหาของเล่นและวิธีการเล่นที่เหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของเด็ก
         - ฝึกให้เด็กได้ตั้งคำถามเพื่อเป็
นการฝึกฝนเชื่อมโยงความรูํ้ในสมองหลายๆทาง
         - ให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง ได้จับต้องของเล่นนานาชนิด
         - ให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้สถานการณ์จำลอง
         - กระตุ้นความรู้สึกที่อยากจะเล่น และส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านอย่างสร้างสรรค์ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
         หากเด็กได้รับการพัฒนาสมองด้วยการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ดังกล่าวตั้งแต่ปฐมวัย สมองของเด็กก็จะสามารถเรียนรู้ได้ทุกขณะทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

2558/09/30

หน้าที่และบทบาทของครูปฐมวัยในการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์

           ครูปฐมวัยมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาตร์ให้กับเด็ก ครูจึุงจำเป็นต้องมีบทบาทในการดำเนินการจัดประสบการณ์ดังนี้
           - เตรียมประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์และเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัย เด็กสามารถเรียนรู้จากการปฏิบัติได้เต็มที่
           - ส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ๆ โดยการกระตุ้นให้เด็กได้คิด ทดลอง เด็กได้มีจินตนาการ เป็นต้น
           - จัดสภาพแวดล้อมในห้องเรียน มีการจัดเป็นมุมวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมให้เด็กได้เข้าไปปฏิบัติกิจกรรมซึ่งครูจะต้องคอยเปลี่ยนวัสดุและสื่อต่างๆ
           - เด็กจะต้องได้รับการฝึกทักษะต่างๆในทางวิทยาศาสตร์จากการทำกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ครูจัดให้ เช่น ทักษะการสังเกต การวัด การจำแนก การพยากรณ์ เป็นต้น
           - ครูคอยแนะนำวัสดุอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กสนใจและอยากทำกิจกรรมพร้อมทั้งครูจะต้องสังเกตพฤติกรรมของเด็กอย่างใกล้ชิด
           ดังนั้นครูมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กมีทักษะในทางวิทยาศาตร์


2558/08/27

แนวทางการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กปฐมวัย

      ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามารถของคนในการคิดดัดแปลงให้เกิดสิ่่งใหม่หรือการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริมจากพ่อแม่ และผู้เกี่ยวข้องโดยเปิดโอกาสให้เด็กได้ค้นคว้า สำรวจและค้นพบ ซึ่งผู้ใหญ่ควรดำเนินการดังนี้
      - กระตือรือร้นต่อคำถามที่แปลกๆของเด็ก และตอบคำถามด้วยความเต็มใจ
      - เปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้หรือค้นคว้าอย่างต่อเนื่อง
      - แสดงให้เห็นว่าความคิดของเด็กมีคุณค่าและมีประโยชน์
      - ตั้งใจฟังและเอาใจใส่ต่อความคิดแปลกๆ ใหม่ๆของเด็ก ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่เคยได้ยินมาแล้วก็ตาม
      - กระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้ใหญ่ควรจะต้องให้การสนับสนุนอย่างใกล้ชิด เพราะความคิดสร้างสรรค์จะต้องใช้เวลาอย่่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไป
      ดังนั้นเด็กปฐมวัยทุกคนควรได้รับการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ โดยให้เด็กได้แสดงออกอย่างอิสระ มีผู้ใหญ่คอยให้การส่งเสริมและสนับสนุน

2558/07/27

พฤติกรรมรักการอ่านของเด็กปฐมวัยแสดงออกอย่างไร

                    การส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กมีความจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัย และต้องได้รับการส่งเสริมอย่างต่อเนือง สำหรับพฤติกรรมรักการอ่านในเด็กปฐมวัยสังเกตได้ดังนี้
                    - หยิบหนังสือด้วยความระมัดระวังและเก็บหนังสือไว้ที่ทุกครั้ง
                    - เมื่ออยู่โรงเรียนยืมหนังสือกลับบ้าน ไปให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง
                    - ใช้เวลาว่างในการหยิบจับหนังสือ พลิกดูหนังสือทั้งๆที่ยังอ่านไม่ออก
                    - ขอไปร้านหนังสือ  หยิบจับหนังสือที่ร้านตามที่สนใจ และขอให้ซื้อหนังสือ
                    - เปิดหนังสืออ่านหรือดูหนังสือทีละหน้าอย่างช้าๆ
                    - เล่าเรื่องสิ่งที่ตนเองสนใจจากหนังสือได้อย่างชัดเจน
                   พฤติกรรมที่กล่าวเป็นตัวอย่างพฤติกรรมสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการรักการอ่านของเด็ก จำเป็นที่ผู้ใหญ่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างจริงจัง

2558/06/26

การส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กมีการพัฒนาด้านการคิด

       การที่บุคคลจะมีความสามารถด้านการคิดจะต้องได้รับการพัฒนาและส่งเสริมตั้งแต่ในวัยเด็ก ซึ่งควรได้รับการฝึกฝนการรับรู้ทางประสาทสัมผัส การใช้คำถาม การสังเกต การจำแนก การเปรียบเทียบที่ต้องใช้ความคิด ซึ่งพอจะสรุปได้ว่าผู้ใหญ่จะต้องดำเนินการดังนี้
       - จัดสภาพแวดล้อมและกิจกรรมที่กระตุ้นให้เด็กได้คิดอยู่เสมอพร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็กได้ค้นคว้า
       - ใช้คำถามและกระตุ้นให้เด็กได้คิด ผู้ใหญ่ต้องให้การสนับสนุนในการหาคำตอบ
       - จัดสื่ออุปกรณ์ ของเล่นประเภทต่างๆที่ส่งเสริมการคิดให้กับเด็ก
       - คำนึงถึงพัฒนาการและความสนใจของเด็ก
       - ผู้ใหญ่ทั้งพ่อแม่ ครู ผู้ใกล้ชิดมีส่วนในการส่งเสริมความคิดของเด็ก
       การส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการคิดผู้ใหญ๋ต้องร่วมมือกัน โดยจัดกิจกรรมให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเองจากการที่เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ใช้คำถามที่กระตุ้นความคิดให้เด็ก เป็นต้น

2558/06/25

สื่อสำหรับการจัดประสบการณ์เพื่อเด็กปฐมวัย

       สื่อสำหรับการจัดประสบการณ์ให้เด็ก มีจุดประสงค์เพื่อการส่งเสริมพัฒนาการและหมายถึงวัสดุที่เด็กนำมาเล่นหรือทำกิจกกรรมแล้วได้ความสุข เกิดความผ่อนคลาย ได้เรียนรู้ เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กเกิดความรู้จากการได้สัมผัส หรือได้ลงมือปฏิบัติ สิ่งสำคัญช่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง สรุปแล้วสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อเด็กมีดังนี้
       - กระตุ้นความสนใจ ช่วยให้เรียนได้ง่าย รวดเร็ว และเพลิดเพลิน
       - สร้างโอกาสให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
       - ช่่วยให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่เป็นจริง
       - ช่วยให้มีความทรงจำต่อสิ่งที่เรียนได้นาน และนำไปใช้ได้ดีกว่า
       - ช่วยให้เรียนได้มากขึ้นในเวลาที่น้อยลง
       - ช่วยแสดงวิธีต่างๆ ที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด
       สื่อจึงมีคุุณค่ามหาศาลต่อการพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา ครูปฐมวัยต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับสื่อเป็นอย่างมาก

2558/05/21

ข้อควรคำนึงสำหรับครูปฐมวัยในการเตรียมความพร้อมด้านการอ่าน

                ก่อนที่จะจัดประสบการณ์ด้านการอ่านให้กับเด็กปฐมวัย การเตรียมความพร้อมทางการอ่านให้กับเด็กเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เด็กจะเรียนรู้ได้ดีจะต้องมีความพร้อมทั้งด้านจิตใจและร่างกาย ดังนั้นการ
เตรียมความเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้การอ่่านครูต้องคำนึงถึงสิ่งสำคัญดังนี้
               - เด็กแต่ละคนมีประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะประสบการณ์การเรียนรู้
               - เด็กที่เข้าเรียนใหม่่มาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน มีการใช้ภาษาที่หลากหลาย
               - เด็กที่เข้าเรียนใหม่ยังไม่พร้อมที่จะเรียนหนังสือครูจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
               - เด็กที่เข้าเรียนใหม่ต้องสัมผัสกับสังคมใหม่ที่เด็กไม่คุ้นเคยทำให้เกิดความคับข้องใจเพราะปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ไม่ได้
               ดังนั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูปฐมวัยจะต้องตระหนักถึงสิ่งดังกล้่าวเพื่อเตรียมเด็กทั้งสภาพร่างกายและจิตใจให้เด็กมีความพร้อมก่อนที่จะสอนอ่านให้กับเด็ก

2558/04/30

การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเป็นทางการ

           การจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยทำให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงจากการลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และจดจำได้นาน ตลอดจนได้ฝึกทักษะทางวิทยาศาสตร์ต่างๆไม่ว่าจะเป็นการสังเกต จำแนก เปรียบเทียบ การวัด การคำนวณ เป็นต้น การจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์ให้กับเด็กอย่างเป็นทางการ ครูมีความสำคัญโดยเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้พร้อมและเพียงพอกับเรื่องที่ครูเป็นผู้กำหนดเรื่องให้กับเด็กปฐมวัย ดังนั้นเนื้อหาที่ควรนำมาจัดมีดังนี้
           - คุณสมบัติทั่วไปของวัตถุ  เช่น สี กลิ่น ขนาด อุณหภูมิ เป็นต้น
           - การเปรียบเทียบวัตถุและความแตกต่างกันระหว่างวัตถุต่างๆ เช่น สี กลิ่น ขนาด ลักษณะ ปริมาณ เสียง เป็นต้น
           - คุณสมบัติของของแข็ง ของเหลว และก๊าซ เช่น ให้เด็กเรียนรู้สภาพของสิ่งของทั้งสามประเภท
           - การเปลี่ยนแปลงของวัตถุ โดยให้เด็กได้ทดลองด้วยตนเองซึ่งจะทำให้เด็กได้เข้าใจและจำได้ดี
           การจัดกิจกรรมหรือประสบการณ์วิทยาศาสตร์อย่างเป็นทางการณ์ดังกล่าวนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการสังเกต  การจำแนก การวัด การสื่อความหมาย การลงความเห็น การคำนวณ ฯลฯได้อย่างมีคุณภาพ

2558/04/12

แนวทางการส่งเสริมวินัยในตนเองให้กับเด็กเล็ก

         ความมีวินัยในตนเองสำหรับเด็กเล็กๆ มีความหมายที่เข้าใจกันง่ายๆคือเด็กสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามกฎเกณฑ์ กติกาหรือข้อตกลงร่วมกันด้วยความเต็มใจโดยไม่มีการบังคับจำเป็น

จะต้องฝึกกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งมีแนวทางดังนี้
        - ให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และมอบหมายงานให้เด็กทำตามความสามารถ มีการติดตามให้ข้อมูลย้อนกลับ ชี้แนะ ไม่ติหรือว่ากล่าวเด็กให้เสียใจ ไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น
        - ผู้ใหญ่มีเจตคติที่ดีกับเด็ก การสอนวินัยต้องใจเย็นแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความพยายามและเอาใจใส่ดูแลอย่างต่อเนื่อง และให้กำลังใจ มีคำชมเชยเด็กเมื่อเด็กทำถูกต้อง สร้างวินัยในตัวเด็กด้วยความรัก
        - ให้อิสระแก่เด็กในการมีความคิดเป็นของตนเอง ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเข้าใจด้ัวยการให้คำปรึกษาเมื่อเด็กมีปัญหา เด็กได้เรียนรู้ว่าทำไมต้องมีวินัย พฤติกรรมใดที่เป็นที่ยอมรับได้และพฤติกรรมใดที่ผิดเมื่อผิดต้องแก้ไข
        - ฝึกการมีวินัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เด็กได้ซึมซับจนเป็นนิสัย ผู้ใหญ่ไม่สามารถเปลี่่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กได้ทันทีทันใดต้องฝึกซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง และต้องการต้นแบบที่ดีจากผู้ใหญ่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการสร้างเสริมวินัยในตนเองให้กับเด็ก
         ฉะนั้นการสร้างวินัยให้กับเด็กควรเริ่มตั้งแต่เด็ก ด้วยการที่ผู้ใหญ่ต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องจากการฝึกให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเอง

2558/03/18

ประเภทของการละเล่นไทย: พัฒนาเด็กปฐมวัย

        การละเล่นที่เด็กไทยได้เล่นมาตั้งแต่สมัยก่อนนั้นเป็นการเล่นที่มีประโยขน์และส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กทุกด้าน เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่เป็นธรรมชาติ การละเล่นของไทยมีมากมายซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้
      - การเล่นกลางแจ้งที่มีบทร้อยกรองประกอบ เช่น มอญซ่อนผ้า งูกินหาง เอาเถิด ห่วงยาง ลูกช่วง แม่นาคพระโขนง เขย่งเก็งกอย มะล็อกก๊อกแก๊ก ส่วนที่ไม่มีบทร้องประกอบ เช่น ล้อต๊อก หยอดหลุม ลูกข่าง ลูกหิน เตย ชักคะเย่อ หมุนนาฬิกา ขี่ม้าส่งเมือง กาฟักไข่ ตีโป่ง โปลิศจับขโมย เป็นต้น
      - การละเล่นในร่มที่มีบทร้อยกรอง เช่น ซักส้าว ม้าโยกเยก จีจ่อเจี๊ยบ จ้ำจี้ จับปูดำขยำปูนา ส่วนที่ไม่มีบทร้องประกอบ เช่น หมากเก็บ หมากตะเกียบ ปั่นแปะ เสือกินวัว เสือตกถัง อีตัก เป็นต้น
      ประเภทการละเล่นไทยดังกล่าวเป็นการเล่นที่มีประโยชน์อย่างมาก ปัจจุบันห่างหายจากสังคมเด็กไทยไปมากเพราะสภาพความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มีเครื่องมือที่เด็กให้เวลากับสิ่งดังกล่าวดังนั้นผู้ใหญ่ควรช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้เลือกเล่นตามความสนใจและความเหมาะสม

2558/02/28

สร้างวินัยตั้งแต่ปฐมวัย

       การให้เด็กปฐมวัยมีวินัยนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสังคมเพราะเมื่อเด็กมีวินัยตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นคนที่มีระเบียบวินัย เคารพกฎเกณฑ์  ข้อบังคับ และกฎหมาย ควรเริ่มต้นจากการฝึกให้เด็กปฏิบัติตามข้อตกลงก่อนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน กิจกรรมที่สามารถฝึกได้มีดังนี้
      - ให้เก็บที่นอน พับผ้าห่มทุกครั้งหลังตื่นนอน
      - ให้อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน หวีผมด้วยตนเองหลังตื่นนอน และก่อนเข้านอน
      - เก็บของเล่น ของใช้ทุกครั้งหลังจากเล่นและใช้อย่างเป็นระเบียบ
      - ให้รู้จักและฝึกการเข้าแถวในกิจกรรมต่างๆทั้งที่โรงเรียน และตามสถานที่่ต่่างๆ เช่น เข้าแถวรับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ เข้าแถวหยิบของตามลำดับก่อนหลัง การไปร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร โรงภาพยนตร์ เป็นต้น
      - ฝึกการตรงต่อเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมทั้งที่บ้านและโรงเรียน
      กิจกรรมที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของการฝึกให้เด็กได้ทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัย และทำเป็นปกติในชีวิตประจำวัน หากเด็กได้รับการฝึกเช่นนี้แล้วเขาก็จะเป็นคนมีวินัยเมื่อโตขึ้น

2558/01/30

การเล่น : การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

                        การเรียนรู้กับการเล่นของเด็กปฐมวัยมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เพราะการเล่นเป็นการตอบสนองธรรมชาติของเด็ก การเล่นทำให้เด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อม เด็กจะมีความรู้สึกเป็นอิสระ สนุกสนานเพลิดเพลิน ลดความตึงเครียด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการเล่นมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยดังนี้
                       - ได้รับประสบการณ์ตรงจากการเล่น
                       - ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
                       - ช่วยให้เด็กรู้จักการแก้ปัญหา
                       - ได้เข้าใจถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก
                       - ส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
                       - เป็นการแสดงออกถึงลักษณะนิสัยของเด็ก
                       - เรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆกับเพื่อน ฝึกการรอคอย การเป็นผู้นำ ผู้ตาม การเอื้อเฟื้อ
เผื่อแผ่่ ฯลฯ
                      - ช่วยให้เด็กเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดซึ่งทำให้พ่อแม่่ผู้ปกค่รองเข้าใจถึงความต้องการของเด็กได้ดี
                      การเล่นจึงเป็นกิจกรรมและวิถีทางที่สำคัญสำหรับเด็กที่จะทำให้เด็กได้พัฒนาในทุกด้าน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูจึงควรจัดกิจกรรมการพัฒนาผ่านกระบวนการเล่น