2556/12/24

หลักการเตรียมความพร้อมคณิตศาสตร์ให้แก่เด็กปฐมวัย

                     การเตรียมความพร้อมด้านคณิตศาสตร์ให้กับเด็กต้องเริ่มเตรียมกันตั้งแต่่ในระดับปฐมวัยซึ่งผู้ใหญ๋หรือครูปฐมวัยจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจดังนี้
                     - ให้เด็กเร่ียนรู้จากการปฏิบัติจริงไม่ให้เด็กเล่นไปตามยถากรรม
                     - ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้จากโรงเรียนและที่บ้านอย่างต่อเนื่อง
                     - ให้เด็กมีส่วนร่วมหรือปฏิบัติจริงเกี่ยวกับตัวเลข
                     - นำประสบการณ์เดิมของเด็กมาใช้ในการสอนประสบการณ์ใหม่
                     - สอนให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของเด็ก
                     - สอนตามลำดับขั้นตอนการพัฒนาความคิดรวบยอด และทักษะทางคณิตศาสตร์ตลอดจนคำนึงถึงหลักทฤษฎี
                     - ให้เด็กได้รับประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์อย่างหลากหลาย เด็กปฏิบัตกิจกรรมด้วยตนเองและพบคำตอบด้วยตนเอง
                     การเตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์จึงมีความสำคัญและมีความจำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัยเป็นอย่างยิ่ง หากเด็กไม่ได้รับการเตรียมแล้วเด็กก็ไม่สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้อย่างดี

2556/12/17

ความสำคัญในการเล่นของเด็ก

                 การเล่นของเด็กเป็นการให้ประสบการณ์ตรงต่อเด็ก เพื่อเด็กจะได้รับประสบการณ์ใหม่และปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ความสำคัญของการเล่นมีดังนี้
                - พัฒนาด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย
                - พัฒนาด้านสังคม อารมณ์และสติปัญญา
                - ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ
                - ปัองกันการเกิดอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
                - ส่งเสริมให้เด็กรู้จักการสังเกต
                - ฝึกคุณธรรม จริยธรรม เช่น การมีวินัย ความสามัคคี ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ  ฯลฯ
                - พัฒนาทักษะการใช้ภาษา การสื่อสาร
                ดังนั้นการเล่นสำหรับเด็กแล้วมีความสำคัญในชีวิตของเด็กทุกๆคน ผู้ใหญ่มีหน้าที่พัฒนาเด็กโดยการส่งเสริมและสนับสนุน คอยดูแลให้เด็กได้เล่นอย่างเหมาะสมต่อไป

2556/12/15

สอนภาษาแบบธรรมชาติ(Whole Language Approach) ให้กับเด็กปฐมวัย

              การสอนภาษาแบบธรรมชาติเป็นปรัชญาแนวคิดที่่ผู้ใหญ่ ครู หรือพ่อแม่สามารถนำไปใช้สอนเด็กปฐมวัยด้วยวิธีการต่างๆ อย่างหลากหลาย เด็กสามารถเรียนรู้ภาษาธรรมชาติทั้งในและนอกห้องเรียน ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้พอกล่าวได้คือ
              - เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันในการเรียนรู้และระดับการพัฒนาได้ไม่เท่ากัน
              - เด็กเร่ียนรุ้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างมีความสุข
              - การเรียนรู้เกิดขึ้นในห้องเรียน นอกห้องเรียน ได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมจริงๆรอบตัวเด็ก
              - เนื้อหาการเรียนรู้เป็นเนื้อหาที่อยู่ใกล้ตัวและมีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน
              - การเรียนรู้ภาษาของเด็กเกิดจากการได้รับการแนะนำช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ ไม่ใช่เกิดจากการถูกบังคับหรือการควบคุม
              - เด็กเรียนรู้ภาษาไปพร้อมกับการพัฒนาในทุกๆด้านไปพร้อมกันทั้งด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญา และร่างกาย
              ดังนั้นการเรียนรู้ภาษาแบบธรรมชาติผู้ใหญ่่ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนเห็นหรือตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก

   

2556/12/08

กิจกรรมที่ช่วยฝึกความพร้อมของกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือ และแขนให้กับเด็กปฐมวัย

                เด็กปฐมวัยหากได้รับการฝึกให้ใช้กล้ามเนื้อมือ นิ้วมือและแขนใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและแข็งแรงแล้วจะส่งผลต่อการพัฒนาการด้านการเขียนของเด็กสำหรับกิจกรรมที่ควรจัดให้กับเด็กมีดังนี้
                - การทำงานศิลปะต่างๆ เช่น การวาดภาพระบายสีเทียน สีไม้ สีน้ำ การระบายสีด้วยนิ้วมือ การพิมพ์ การปั้น การพับกระดาษ ฯลฯ
                - การเล่นของเล่นที่ใช้มือ นิ้วมือ เช่น การเล่นเปลี่ยนเสื้อผ้าตุ็กตา การผูกเชือกรองเท้า การติดกระดุม รูดซิป ฯลฯ
                - การใช้ไม้ขีดเขียนเล่นบนดิน ใช้มือเขียนเล่นบนทราย การก่อเจดีย์ทราย
                - การเล่นเกมหรือการละเล่นต่างๆ ที่มีการวิ่ง กระโดด การเล่นที่ใช้มือโดยนั่งเล่นอยู่กับที่ เช่น หมากเก็บ ฯลฯ
               - การเล่นเครื่องดนตรีสำหรับเด็ก เช่น ตีกลอง เป่าปี่ ตีระนาด เขย่าลูกแซก ฯลฯ
               - การเล่านิทานโดยใช้หุ่นมือ หุ่นนิ้วมือประกอบ
               - การทำท่าประกอบคำคล้องจองหรือตามเนื้อเพลง
               หากเด็กได้รับการฝึกโดยได้ทำกิจกรรมต่างๆที่กล่าวเด็กจะมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมือ นิ้วมือและแขนซึ่งจะทำให้มีความพร้อมด้านการเขียนต่อไป




2556/12/04

สื่อพื้นฐานที่ส่งเสริมทักษะวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย

         ทักษะวิทยาศาสตร์เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยทำให้เด็กได้รับรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก และทำให้มีเหตุผล เป็นคนคิดเป็นทำเป็น ตลอดจนแก้ปัญหาได้ สื่อพื้นฐานพอจะกล่าวได้ดังนี้
         - แว่นขยาย
         - เครื่องชั่ง
         - แม่เหล็ก
         - เทอร์โมมิเตอร์
         - ไฟฉาย
         - วัสดุต่างๆจากธรรมชาติหรือมีอยุ่ในท้องถิ่น เช่น เปลือกหอย ดิน หิน แร่ เมล็ดพืชต่างๆ ใบไม้แห้ง ดอกไม้แห้ง ฯลฯ
         - อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลองต่างๆ เช่น กะละมัง ถังน้ำ ฯลฯ
         ดังนั้นผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูสามารถส่งเสริมเด็กปฐมวัยให้มีทักษะวิทยาศาสตร์ได้โดยการหาสื่อที่กล่าวข้างต้นและให้เด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมที่ครูเตรียมให้ด้วยตัวของเด็กเอง

2556/11/30

หลักการเลือกของเล่นให้เด็กปฐมวัย

         ของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญต่อการเล่นของเด็กเพราะเป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจในการเล่น การเลือกของเล่นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติที่เหมาะสมจึงมีหลักดังนี้
         - ความปลอดภัยในการเล่น ของเล่นอาจทำด้วยไม้ ผ้า พลาสติก หรือโลหะ ที่ไม่มีอันตรายต่อผิวสัมผัส ไม่หลุดหรือแตกหักง่าย ไม่มีวัสดุที่เป็นพิษต่อเด็ก ไม่มีขนาดเล็กเกินไป น้ำหนักพอเหมาะ ฯลฯ
         - ประโยชน์ในการเล่น ของเล่นสำหรับเด็กควรส่งเสริมและเร้าความสนใจเด็กให้อยากรู้อยากเห็น มีการออกแบบที่ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดความคิดและจินตนาการ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อ พัฒนาประสาทมือและตาให้สัมพันธ์กัน พัฒนาการใช้มืออย่างคล่องแคล่ว ฯลฯ
          - ประสิทธิภาพในการเล่น ของเล่นควรมีความยากง่ายเหมาะกับระดับอายุ และความสามารถตามพัฒนาการของเด็ก เด็กได้ใช้ประสบการณ์ตรงและเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง และปรับเปลี่ยนตัดแปลงใช้ประโยชน์ได้หลายโอกาส หลายรูปแบบ หรือเล่นได้หลายคน
          - ประหยัดทรัพยากร ของเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีราคาแพงหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่เป็นของเล่นที่จัดหาได้ง่าย มีราคาย่อมเยา หรือหาได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน
          ดังนั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเด็กจำเป็นจะต้องคำนึงถึงหลักดังที่กล่าวเพื่อจะได้ส่งเสริมและพัฒนาเด็กของเราให้มีคุณภาพ

2556/11/26

ประเภทของเครื่องเล่นสนามที่สามารถพัฒนาเด็กอย่างมึคุณภาพ

                     ผู้ใหญ่ควรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดหาเครื่องเล่นสนามที่เหมาะสมให้กับเด็กปฐมวัย เครื่องเล่นที่เหมาะกับเด็กควรเป็นเครื่องเล่นที่เด็กสามารถปีนป่าย หมุน โยก ฯลฯ เครื่องเล่นดังกล่าวจะส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้มีการพัฒนากล้ามเนื่้อใหญ่ให้แข็งแรง คล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน ซึ่งอาจจำแนกได้ดังนี้
                   - ประเภทปีนป่าย เช่น โคม ตาข่ายสำหรับปีน ทีปีนแบบโค้ง
                   - ประภทโยกหรือไกว เช่น ม้าไม้ ชิงช้า ม้านั่งโยก
                   - ประเภทหมุน เช่น ม้าหมุน พวงมาลัยรถสำหรับหมุนเล่น
                   - ประเภทโหน เช่น บาร์โหน ราวโหน บาร์คู่
                   - ประเภทไต่ เช่น ราวไต่หรือต้นไม้ สำหรับหัดเดินทรงตัว
                   - ประเภทลื่น เช่น ไม้ลื่น อุโมงค์ลอด
                   สื่อหรืออุปกรณ์ต่างๆจึงมีความสำคัญสามารถพัฒนาความพร้อมด้านร่างกาย เด็กจะมีกล้ามเนื้อใหญ่แข็งแรงได้เด็กต้องผ่านการเล่นจากอุปกรณ์ดังกล่าว

2556/11/19

ขอบข่ายคณิตศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

         การวางพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเราควรเตรียมขอบข่ายของคณิตศาสตร์ซึ่งประกอบด้วยทักษะที่ผู้ใหญ่จะต้องจัดประสบการณ์ให่้เด็กมีดังนี้
         - การนับ เป็นการนับอย่างมีความหมาย
         - ตัวเลข ให้เด็กรู้จักตัวเลขที่เห็นหรือใช้ในชีวิตประจำวัน
         - การจับคู่ ให้เด็กสังเกตลักษณะต่างๆ และจับคู่สิ่งที่เข้าคู่กัน เหมือนกัน หรือประเภทเดียวกัน
         - การจัดประเภท ให้เด็กสังเกตและสามารถจัดเป็นประเภทต่างๆ
         - การเปรียบเทียบ เป็นการบอกความสัมพันธ์ของสองสิ่งหรือมากกว่า เช่น สั้นกว่า ยาวกว่า
         - การจัดลำดับ ให้เด็กจัดสิ่งของชุดหนึ่งๆ ตามคำสั่ง เช่น เรียงลำคับจากสูงไปต่ำ
         - การวัด ให้เด็กวัดด้วยตนเอง เช่น วัดความยาว ชั่งน้ำหนัก
         การจัดประสบการณ์ให้เด็กมีทักษะดังกล่าวจำเป็นจะต้องให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยตนเอง มีสื่อ วัสดุและอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตลอดจนทำอย่างต่อเนื่อง

2556/11/14

การพัฒนาทักษะการจำแนกให้แก่เด็กปฐมวัย

             การให้เด็กได้มีความสามารถในการจำแนกนั้นเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กได้ปฏิบัติหรือลงมือกระทำในการจัดวัตถุ เหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ 2 ประเภทขึ้นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เช่น สี ขนาด รูปร่าง
ลักษณะ เสียง เป็นต้น หลักการในการพัฒนาทักษะการจำแนกควรจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมดังนี้
           - จัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์อย่างหลากหลายชนิด มาให้เด็กได้เล่นหรือได้มีประสบการณ์เพื่อให้เด็กได้สนใจ และคอยส่งเสริมให้เด็กได้มีทักษะในการจัดประเภทสิ่งของด้วยวิธีการสังเกต
          - คอยส่งเสริมให้เด็กเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความแตกต่างและความเหมือนกันระหว่างสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่างๆกัน
          - กระตุ้นให้เด็กได้เสนอแนวคิดในการจำแนกวัตถุในหลายๆลักษณะให้ได้มากที่สุด หลังจากนั้นแล้วให้เด็กอภิปรายหรือให้เหตุผลในการจำแนกประเภทดังกล่าว
          - ส่งเสริมการสร้างนิสัยความมีระเบียบในการจัดของให้เป็นประเภทเดียวกัน
          การพัฒนาทักษะการจำแนกดังกล่าวมีความสำคัญต่อเด็กเพราะเป็นทักษะจำเป็นในการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยต่อไปไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์ เป็นต้น


2556/11/10

เตรียมความพร้อมทางคณิตศาสตร์ให้เด็กปฐมวัยเพื่ออะไร

        ประสบการณ์ทางคณิตศาสตร์มีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัย ผู้ใหญ่โดยเฉพาะครูจำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อเตรียมเด็กให้มีความสามารถด้านนี้เพราะจุดมุ่งหมายของการสอนคณิตศาสตร์ให้เด็กมีดังนี้
       - เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจ อยากรู้และอยากค้นคว้าเพิ่มเติม
       - เพื่อฝึกให้เด็กมีทักษะพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่ การนับ การจับคู่ การจัดประเภท ฯลฯ
       - เพื่อให้เด็กรู้จักและใช้กระบวนการในการหาคำตอบ เช่น การชั่งน้ำหนัก ฯลฯ
       - เพื่อพัฒนาความคิดรวบยอดทางคณิตศาสตร์ ได้แก่ การบวกหรือการเพิ่ม การลดหรือการลบ
       - เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ เช่น คำศัพท์ สัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์
       - เพื่อให้เด็กค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง
       ความมุ่งหมายดังกล่าวผู้ใหญ่จะต้องเตรียมโดยให้เด็กได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากสื่อ อุปกรณ์ มีการสำรวจ ค้นพบ ฯลฯเพื่อให้มีทักษะโดยผ่านกระบวนการต่างๆสู่การมีความพร้อมในที่สุด


2556/11/05

ภาษาพูด:กระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย

                เด็กปฐมวัยตั้งแต่แรกเกิดมีกระบวนการเรียนรู้ภาษาพูดตลอดเวลาจนสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้ กระบวนการเรียนรู้มีดังนี้
                - การเลียนแบบ เป็นกระบวนการที่เด็กเลียนเสียงคนอื่นที่แวดล้อมจนนำไปสู่การพูดตามเสียงที่ได้ยิน
                - การเอาอย่าง เด็กมิได้เลียนแบบการออกเสียงอย่างเดียวแต่พยายามเลียนแบบท่าทาง ตามเสียงที่ได้ยินด้วย
                - การเรียนรู้ด้วยความสัมพันธ์ภาษา เด็กจะเรียนรู้คำต่างๆ เช่น แม่ยื่นตุ็กตาให้พร้อมกับบอกว่าตุ็กตา เด็กจะเรียนรู้ได้จากการเชื่อมโยงกับสิ่งของ
                - การลองผิดลองถูก เมื่อใดที่เด็กออกเสียงได้ถูกต้องจะทำให้เด็กมั่นใจและช่วยให้เด็กมีการพัฒนาการพูดได้เร็ว
               - การถ่ายทอดการเรียนรู้  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะง่ายขึ้นถ้าเด็กมีการเรียนรู้เกี่ยวกันมาก่อน เช่น
การรู้จักวัว แล้วสอนให้รู้จักควาย  โดยชี้ให้เห็นความแตกต่างกัน เด็กจะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
               หากพ่อแม่ ผู้ปกครองได้เข้าใจและมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ภาษาพูดดังกล่าวแล้วนำมาจัดประสบการณ์ให้เด็กได้อย่างต่อเนื่องแล้วเด็กจะมีการพัฒนาการพูดอย่างรวดเร็ว

2556/11/03

การส่งเสริมทักษะการคิดให้กับเด็กปฐมวัย

       กิจกรรมหรือวิธีการที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการคิดนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจและให้เด็กได้ปฏิบัติเพื่อกระตุ้นให้เด็กได้แสดงความคิดดังนี้
       - ใช้คำถามกระตุ้นให้เกิดการคิด
       - เปิดโอกาสให้เด็กคิด ให้แสดงออก และยอมรับความคิดของเด็ก
       - ใช้กิจกรรมสร้างสรรค์หรือกิจกรรมศิลปะให้แสดงออกทางความคิด
       - ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เกิดการค่ิดอย่างเป็นระบบ
       - ให้ความรักและความสะดวกใจแก่เด็กในการแสดงคตวามรู้ความคิด
       - ให้เด็กพยายามช่วยเหลือตนเองด้วยการคิดที่หลากหลาย
       - จัดหาสถานที่อุปกรณ์และสิ่งที่เด็กสนใจสามารถศึกษา ค้นคว้า ทดลองในสิ่งที่เด็กสนใจ
       - สนทนาซักถาม แสดงความคิดเห็นและตอบโต้ ซึ่งกระตุ้นให้เด้กได้ฝึกฝนทักษะการคิด
       ด้งนั้นผู้ใหญ่จึงสามารถสร้าง ส่งเสริมสนับสนุนเด็กปฐมวัยให้เป็นนักคิดโดยการใช้วิธีการและกิจกรรมที่กล่าวข้างต้น

2556/10/27

อะไรคือความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัย

                      เด็กปฐมวัยจะมีความพร้อมด้านภาษานั้นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความพร้อมของเด็กประกอบด้วยสิ่งที่ผู้ใหญ่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจดังนี้
                      - ความพร้อมด้านร่างกาย ได้แก่ สุขภาพของเด็ก การใช้สายตา การฟัง การพูด ความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตา
                      - ความพร้อมด้านอารมณ์ จิตใจ ได้แก่่ การรู้จักควบคุมอารมณ์ การเล่นหรือทำงานเป็น
กลุ่ม เป็นต้น
                     - ความพร้อมด้านจิตวิทยา ได้แก่ ความสนใจในการอ่าน การรู้จักฟังอย่างตั้งใจ การมีช่วงของความสนใจ เป็นต้น
                     - ความพร้อมด้านสติปัญญาหรือสมอง ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจคำสั่งง่ายๆ ความจำได้แม่นยำ เป็นต้น
                     - ความพร้อมด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ภาษาที่ได้รับจากทางบ้าน และประสบการณ์ทางสังคม
                     ความพร้อมดังกล่าวเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางภาษาของเด็กปฐมวัย ผู้ใหญ่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อเด็กจะได้มีพัฒนาการด้านการฟัง พูด อ่านและเขียนต่อไป

2556/10/24

เกมการศึกษา:ความสำคัญต่อเด็กปฐมวัย

                  เกมการศึกษาเป็นของเล่นที่ช่วยให้ผู้เล่นมีความสังเกต ช่วยให้มองเห็นสิ่งที่ควรจะได้เห็น ได้ฟัง หรือคิดอย่างรวดเร็ว เกมการศึกษาจะต่างจากการเล่นอย่างอื่นตรงที่ว่าแต่ละชุดจะมีวิธีการเล่นโดยเฉพาะ สามารถวางเล่นบนโต๊ะ ผู้เล่นสามารถตรวจสอบการเล่นว่าเล่นถูกต้องหรือไม่ได้ด้วยตนเอง สิ่งสำคัญของการเล่นเกมการศึกษาคือ
                - เป็นการพัฒนาการเรียนรู้สิ่งต่างๆรอบตัว
                - เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
                - ฝึกการใช้ความคิดในระหว่างการเล่น เช่น การใช้การสังเกต เปรียบเทียบ จำแนก เชื่่อมโยง การคิดอย่างมีเหตุผล  การแก้ปัญหา เป็นต้น
                - สร้างเสริมให้เด็กได้เรียนรู้จากประสาทสัมผัสต่างๆ
                - ช่วยให้เด็กพัฒนาภาวะทางอารมณ์ จิตใจ และสังคม
                ดังนั้นควรจัดกิจกรรมเกมการศึกษาให้เด็กปฐมวัยได้เล่นอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาเด็กให้เกิดการเรียนรู้ เป็นพื้นฐานการศึกษาและพัฒนาความพร้อมในทุกด้าน

2556/10/20

พฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับสำหรับเด็กปฐมวัย

          พฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับเป็นพฤติกรรมที่เด็กทำไปแล้วสร้างความเดือดร้อนหรือสร้างความไม่พอใจให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้แก่
          - การยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เป็นสิ่งที่เด็กพูดเกี่ยวกับเรื่องตนเองมากกว่าเรื่องของผู้อื่น การทำให้ผู้อื่นโมโหหรืออับอาย ไม่ให้ความช่วยเหลือหรือรับการช่วยเหลือจากผู้อื่น
          - ความก้าวร้าว เป็นกิริยาที่ตอบสนองต่อการไม่สมหวัง จนแสดงความรุนแรงออกมาเป็นคำพูดหรือการใช้กำลังต่อสู้กัน
          - การทะเลาะวิวาท เป็นพฤติกรรมที่ีเกิดขึ้นเพราะเด็กยังขาดประสบการณ์ในการเล่นกับเพื่อนเมื่อเกิดการขัดใจกัน เช่น การแย่งของเล่นกัน การแย่งสิ่งของที่มีจำนวนจำกัด เป็นต้น เมื่อเด็กโตขึ้นและรู้จักการปรับตัวมากขึ้นการทะเลาะจะลดลง
          ดังนั้นผู้ใหญ่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับโดยการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมและคอยแนะนำให้เด็กมีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับละเวันสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ

       

2556/10/17

เด็กปฐมวัยกับความต้องการทางสังคม

               เด็กช่วงปฐมวัยเริ่มเรียนรู้ในการเข้าสังคมและปรับตัวทางสังคม กับเพื่อนๆ และบุคคลอื่นที่อยู่นอกบ้าน ความต้องการทางสังคมของเด็กมีดังนี้
               - มีความต้องการที่จะเล่นกับเพื่อนที่เป็นกลุ่มเล็ก และกลุ่มย่อยๆ การเล่นเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างเล่นแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มเดียวกัน
               - มีการทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆแต่เป็นช่วงระยะสั้นๆ เด็กมักจะลืมง่าย
               - เด็กเริ่มมีความต้องการที่จะสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนในวัยเดียวกันและมีเพื่อนเพียง 1-2 คนและเป็นเพศเดียวกัน แต่เด็กมักมีสังคมที่ไม่แน่นอน สามารถเล่นกับเพื่อนส่วนใหญ่ในชั้นได้
               - เด็กชายและหญิงมีความสนใจคล้ายกันและยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาททางเพศ
               - เด็กมีความต้องการที่จะแสดงออก และสนุกสนานกับการเล่นละครซึ่งอาจจะแต่งขึ้นเอง
               - เด็กต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้ใหญ่ และกลัวคนแปลกหน้า
               ดังนั้นเด็กมีความต้องการทางสังคม ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมต่างๆทั้งการเล่น การทำงานเป็นกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมที่เหมาะสมต่อไป

2556/10/16

ประโยชน์ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากธรรมชาตินอกห้องเรียน

          การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากธรรมชาติเป็นการจัดกิจกรรมในเรื่องที่เกี่่ยวกับพืช สัตว์ มนุษย์ ดิน น้ำ อากาศ แสง เสียง เป็นต้น เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยการสังเกตและทำให้เด็กได้ประโยชน์ดังนี้
         - เด็กมีความรับผิดชอบในการอนุรักษ์ธรรมชาติ
         - เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา
         - เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์
         - เด็กมีความรู้เกี่ยวกับตนเองและธรรมชาติ
         - เด็กมีทักษะในการแก้ปัญหา
         - เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์
         - เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
         - เด็กมีทักษะในการใช้เครื่องมือต่างๆในการทำงาน
         - เด็กสามารถทำงานเป็นกลุ่มร่วมกับเพื่อนๆ
        การจัดกิจกรรมการเรียนรุ้วิทยาศาสตร์ดังกล่าวครูจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการจัดประสบการณ์ทั้งการชี้แจงวัตถุประสงค์ เนื้อหาในการให้เด็กได้ปฏิบัติด้วยการใช้ประสาทสัมผัส เป็นต้น

       

2556/10/10

องค์ประกอบของความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัย

                ผู้ใหญ่สามารถสังเกตความพร้อมทางภาษาของเด็กปฐมวัยได้จากพฤติกรรมต่างๆที่เด็กปฐมวัยแสดงออกได้ดังนี้
               - ความสามารถในการแยกสิ่งที่ได้ยิน ได้แก่ ความเข้าใจและความสามารถใช้ภาษาพูดได้ถูกต้อง แยกคำพูดที่แตกต่างกัน สามารถแยกถ้อยคำ และออกเสียงไดัถูกต้อง
               - ความสามารถทางสายตา ได้แก่ ความสามารถในการแยกคำที่คล้ายคลึงกันและมองเห็นความแตกต่างของคำ
               - ความสามารถทางการคิดและจำ ได้แก่ สามารถใช้เหตุผล เข้าใจเหตุผล รู้จักเชื่่อมโยงความคิดต่างๆ เข้าใจความหมายของคำและจำรูปร่างของคำได้
               - ความสนใจ ได้แก่ ความสามารถที่จะนั่งฟัง และใช้สายตาเคลื่อนไปตามสิ่งที่อ่าน มีสมาธิในการอ่าน และฟัง และทำตามคำสั่งได้
               ดังนั้นความสามารถทางภาษาของเด็กปฐมวัยที่กล่าวข้างต้นเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กแต่ละคนได้พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ

2556/10/03

การเลือกนิทานให้เด็กปฐมวัย

                  นิทานเป็นสิ่งสำคัญที่่ส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัย ดังนั้นนิทานที่นำมาเล่าหรืออ่านให้กับเด็กนั้นผู้ใหญ่จำเป็นที่จะต้องมีหลักและเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
                  - สร้างความพอใจให้กับเด็ก
                  - เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก เช่น สัตว์ ครอบครัว หรือเรื่องที่เด็กจินตนาการได้
                  - เนื้อเรื่องง่ายๆ เน้นเหตุการณ์เดียวให้เด็กพอคาดคะเนเรื่องได้บ้าง
                  - การเดินเรื่องเป็นไปอย่างรวดเร็ว
                  - รูปเล่ม ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ตัวอักษรไม่ควรใช้อักษรประดิษฐ์
                  - ใช้ภาษาง่ายๆ ประโยคสั้นๆ การกล่าวคำซ้ำหรือมีสัมผัส
                  - ตัวละครน้อย มีลักษณะเด่นที่เด็กสามารถจำได้ง่าย
                  - ความยาวของเรื่องไม่เกิน 15 นาที
                สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ พ่อแม่ หรือผู้ปกครองควรคำนึงและจะต้องตระหนักเป็นอย่างมากเมื่อจะนำนิทานมาเล่าให้เด็กฟัง

2556/09/28

การจัดมุมประสบการณ์ในห้องเรียน

                  การจัดมุมประสบการณ์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ามุมเล่นนั้นสามารถจัดให้กับเด็กปฐมวัยได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้อยู่ที่สภาพของห้องเรียน ข้อควรคำนึงสำหรับครูที่จะดำเนินการมีดังนี้
                  - มุมประสบการณ์ควรมีอย่างน้อย 4 มุม
                  - มีการผลัดเปลี่ยนสื่อของเล่นในมุมตามความสนใจของเด็ก
                  - เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการจัดมุมเพื่อจูงใจให้เด็กอยากเข้าเล่นหรือการเป็นเจ้าของ
                  - กำหนดข้อตกลงร่วมกัน เช่น การจัดเก็บอุปกรณ์ การรอคอย  เป็นต้น
                  - จัดมุมสงบไว้ให้เด็กได้อยู่ตามลำพังบ้าง
                  - จัดพื้นที่แสดงผลงานของเด็กทุกคนที่เป็นปัจจุบัน
                                          ฯลฯ
                  การจัดมุมดังกล่าวเป็นลักษณะทางกายภาพซึ่งเป็นกระบวนการจัดการชั้นเรียนโดยการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย

2556/09/15

รูปแบบการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย

                การจัดการเรียนรู้ววิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้นจะต้องจัดกิจกรรมให้เด็กได้ฟัง พูด สังเกต คิด และปฏิบัติการทดลองเพื่อให้เด็กเกิดความคิดรวบยอดและเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสนทนา ซักถาม อภิปราย สังเกต ทัศนศึกษา และปฏิบัติการทดลอง จุดประสงค์สำคัญคือการฝึกทักษะกระบวนการเรียนรู้มากกว่าการเน้นเนื้อหา รูปแบบการจัดการเรียนรู้พอจะกล่าวได้ดังนี้
               - การศึกษานอกสถานที่
               - การปฏิบัติการทดลอง
               - การสาธิต
               - การอภิปราย
               - การอธิบาย
               - การเรียนรู้แบบสืบเสาะ
                     ฯลฯ
               การเรียนรู้ดังกล่่าวทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาต่างๆได้ด้วยตนเอง และวางพื้นฐานในการเกิดทักษะกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย

   

2556/09/09

คำแนะนำสำหรับครูในการวาดภาพด้วยสีเทียนของเด็กปฐมวัย

                 การให้เด็กวาดภาพด้วยสีเทียนนั้นควรเป็นสีเทียนขนาดใหญ่ เพราะทำให้เด็กจับได้สะดวกและยังแข็งไม่เปราะ หรือหักง่าย ทำให้เด็กมีการพัฒนาการใช้กล้ามเนื่้อมือ
                 กระดาษควรมีขนาดพอเหมาะ หรือครูสามารถเปลี่ยนแปลงใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ (ที่ไม่มีรูปภาพ) กระดาษกล่องหรือวัสดุทดแทนอย่างอื่นได้ และจัดวางว้สดุเหล่านี้ให้ใกล้ที่ที่เด็กจะทำเพื่อให้สะดวกในการหยิบได้
                สีเทียนที่เด็กใช้นั้น การจับสีเทียนก็เช่นเดียวกับการจับดินสอดำที่ใช้เขียนหน่ังสือ

ถ้ากระดาษที่ห่อหุ้มสีเทียนหลุดออกก็สามารถระบายสีด้วยด้านข้างได้ ถ้าสีหักหรือมีขนาดเล็กก็ไม่ควรใช้ต่อไป เพราะสีเทียนที่ม่ีขนาดเล็กมากทำให้เด็กเครียดและเหนื่อยง่าย

2556/09/03

ผลงานกิจกรรมสร้างสรรค์:การประเมิน

              การประเมินผลงานกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย สิ่งที่ควรคำนึงคือการใช้การสังเกตที่เป็นกระบวนการและเป็นระบบ การเก็บรวบรวมผลงานของเด็ก ครูผู้สอนควรใช้การสังเกตความสามารถของเด็กในเรื่องที่สำคัญดังนี้
              - ภาพวาดของเด็กเหมาะสมกับวัยของเด็กไหม
              - ภาพหรือผลงานมีความแปลกใหม่กว่าเดิมหรือไม่ ซึ่่งเป็นการสังเกตความคิดสร้างสรรค์
              - การควบคุมกล้ามเนื้อเล็ก-ใหญ่ และประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา โดยการสังเกตการจับแท่งสี การใช้พู่กัน การปั้น ซึ่งแสดงถึงการบังคับการใช้มือ
              - การทำงานร่วมกับเพื่อน การแบ่งปัน การรอคอย หรือการแก้ปัญหาในการทำงาน
              สรุปได้ว่าผลงานที่เกิดจากกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย จะต้องยึดเด็กเป็นสำคัญ ครูต้องยอมรับความสามารถของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน

2556/09/02

การเล่น:พัฒนาด้านสติปัญญาเด็กปฐมวัย

                      การเล่นเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กๆเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินและส่งเสริมการพัฒนาทางสติปัญญาให้กับเด็กปฐมวัย การส่งเสริมให้เด็กได้เล่นอย่างเหมาะสมมีประโยชน์ด้านสติปัญญาดังนี้
                      - ประสบการณ์การเล่นจะช่วยเพิ่มความรู้และเพิ่มพูนความสามารถให้เด็กฉลาด มีไหวพริบ รู้จักเหตุผล ฝึกการคิดและการแสดงออกในทางที่ถูกต้อง สามารถนำประสบการณ์ที่สะสมไว้มาใช้ในทางที่ถูกต้อง และเหมาะสม
                      - ทำให้สมองแข็งแรง เนื่องจากสมองต้องได้รับการหล่อเลี้ยงนอกเหนือจากอาหารแล้ว การเล่นมีส่วนช่วยให้ร่างกายแข็งแรง
                      - การเล่นมีความสัมพันธ์กับการใช้ภาษา การได้มีโอกาสฝึกพูด และได้รับประสบการณ์ทางด้านภาษาจากเพื่อนเล่น ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี
                      การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากนอกเหนือจาการที่เด็กได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินแต่เพียงอย่างเดียว

                     

2556/08/26

หลักการ:การจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ

                     กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กปฐมวัยเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกายอย่่างอิสระตามจังหวะ การจะจัดให้เกิดประโยชน์นั้นควรมีหลักการคือ
                     - สร้างบรรยากาศที่ให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน มีความรู้สึกอบอุ่น
                     - การเคลื่อนไหวเริ่มจากการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ไม่ควรมีกฎเกณฑ์หรือวิธีการที่ยุ่งยาก
                     - เคลื่อนไหวจากสิ่งที่ใกล้ตัวก่อน เช่น เดิน วิ่ง คลาน กระโดด ฯลฯ
                     - จัดกิจกรรมให้เด็กได้ใช้อวัยวะทุกส่วนในการเคลื่อนไหวให้มากที่สุด
                     - ไม่ควรบังคับเด็กถ้าเด็กยังไม่ร่วมกิจกรรม ควรใช้วิธีการกระตุ้นหรือให้ทำเป็นกลุ่ม
                     - จัดกิจกรรมให้หลากหลายรูปแบบ ให้เกิดความสนุกสนานและท้าทาย
                     - ให้เด็กตระหนักถึงความแตกต่างและความสามารถระหว่างบุคคล
                     - เมื่อจบกิจกรรมควรจัดให้เด็กได้พักผ่อนเพื่อการผ่อนคลาย
                    ผู้ใหญ่จึงมีบทบาทสำคัญในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเพื่อให้เด็กได้มีการพัฒนาในทุกด้านและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กปฐมวัย

   

2556/08/24

เด็กปฐมวัยกับทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

              ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัยที่จำเป็นและมีความสำคัญในการพัฒนาให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยนี้พอจะกล่าวได้คือ
              - ทักษะการสังเกต ควรพัฒนาให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าโดยตรงกับสื่่อหรือวัตถุต่างๆ
              - ทักษะการวัด ควรให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการวัดขนาดของวัตถุ สิ่งของต่างๆ
              - ทักษะการคำนวณ ควรให้เด็กได้เรียนรู้และฝึกให้เด็กได้นำของต่างๆมารวมกัน เป็นต้น
              - ทักษะการจำแนกประเภท ควรให้เด็กได้เรียนรู้ความเหมือนและความต่างของสี ขนาด รูปร่างของวัตถุต่างๆ การเอาของหลากหลายประเภทมารวมกันและให้เด็กแยกเป็นประเภทต่างๆ
              - ทักษะการจัดกระทำและสื่อความหมายของข้อมูล ควรให้เด็กสามารถนำข้อมูลหรือสิ่งต่างๆมาจัดกระทำและอธิบายหรือบอกให้ผู้อื่นได้เข้าใจ
              การให้เด็กมีทักษะดังกล่าวจำเป็นที่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องส่งเสริมและสนับสนุนฝึกให้เด็กได้ทำกิจกรรมต่างๆด้วยตัวของเด็กเองทั้งที่บ้านและโรงเรียน

2556/08/22

พัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยความร่วมมืออันสำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครอง

               พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องให้ความร่วมมือกับบุคคลทุกฝ่ายในการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครูปฐมวัย ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของครูในโรงเรียนเท่านั้น สิ่งที่ควรให้ความร่วมมือพอจะกล่าวได้ดังนี้
               - ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของโรงเรียน ตลอดจนกิจกรรมในการพัฒนาการเรียนรู้
               - เป็นเครือข่ายการเรียนรู้ จัดและสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการเรียนรู้
               - มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียน
               - เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนด้านคุณธรรมจริยธรรม
               - อบรมเลี้ยงดูเด็กด้วยความรักและความอบอุ่น
               - ร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาพฤติกรรมต่างๆของเด็ก
               - หมั่นศึกษาหาความรู้และหาแนวทางในการพัฒนาเด็กอย่างถูกต้อง
               - มีส่วนร่วมในการประเมินพัฒนาการเด็กและการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย
              ด้งนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก และมีส่วนในการให้เด็กได้พัฒนาอย่างมีคุณภาพ

2556/08/12

รูปแบบการเคลื่อนไหวที่ควรจัดให้กับเด็กปฐมวัย

      การจัดกิจกรรมเคลื่่อนไหวให้กับเด็กปฐมวัยเพื่อให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ รูปแบบที่ควรจัดให้เด็กได้ปฏิบัติได้แก่
      - การทำท่าทางกายบริหารประกอบเพลง
      - การปฏิบัติตามคำสั่งและข้อตกลง
      - การเคลื่อนไหวตามบทเพลง
      - การเคลื่อนไหวเคลื่อนที่ด้วยลักษณะการวิ่ง กระโดด เดิน คลาน เป็นต้น
      - การเลียนแบบท่าทางคน สัตว์
      - การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ด้วยการตบมือ เคาะเท้า เป็นต้น
      - การเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ด้วยการคิดท่าขึ้นเอง หรือประกอบอุปกรณ์ต่างๆ
      ดังนั้นการจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงควรจัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวให้เหมาะสมกับเด็ก สร้างบรรยากาศการเคลื่อนไหวให้เด็กได้เกิดความสนุกสนาน อบอุ่นและรู้สึกสบาย หลังจากเคลื่อนไหวแล้วควรให้เด็กได้พัก


2556/07/31

การพับ ฉีก ตัด ปะ ของเด็กปฐมวัย

           การฉีก ตัด ปะ คือกิจกรรมการฉีก ตัดกระดาษสีหรือวัสดุทดแทน ทากาวแล้วนำไปปะติดบนกระดาษให้เป็นรูปร่างต่างๆตามจินตนาการ สำหรับการทำกิจกรรมตัดกระดาษด้วยกรรไกรเป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กๆให้มีสมาธิ ฝึกประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ และฝึกการใช้มือ ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อเล็กให้กับเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี
           การใช้กรรไกรนั้น เด็กที่ไม่เคยใช้กรรไกรจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีใช้กรรไกรก่อน เรียนรู้วิธีการจับกรรไกร และการบังคับกรรไกร 2 ขั้นตอนคือการเปิดขากรรไกรให้กว้างแล้วปิดลง ซึ่งครูหรือผู้ใหญ่อาจจำเป็นต้องช่วยเด็กจับมุมกระดาษไว้ในระยะแรกๆก่อน แล้วจึงค่อยๆปล่อยให้เด็กทำเอง เด็กที่ไม่เคยใช้กรรไกรมาก่อนจะเกิดความสนุกในการทดลองกับการใช้กรรไกร จะสังเกตเห็นว่าเด็กจะเริ่มตัดจากมุมกระดาษก่อนแล้วจึงตัดเป็นรูปต่างๆเมื่อเด็กมีความชำนาญมากขึ้น กิจกรรมดังกล่าวนี้จึงเป็นกิจกรรมพื้นฐานที่มีความสำคัญมากสำหรับเด็กปฐมวัย

2556/07/24

พ่อแม่กับการส่งเสริมการฟังให้กับลูก

                        ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ของเด็กปฐมวัยมีส่วนสำคัญยิ่งต่อเด็กเป็นอย่างมากในการส่งเสริมทักษะด้านการฟัง กิจกรรมที่ควรฝึกให้กับเด็กมีดังนี้
                        - เล่าเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันหรือนิทานให้เด็กฟัง
                        - ฟังเด็กพูดด้วยความตั้งใจ
                        - ให้เด็กฟังรายการวิทยุที่ให้ความบันเทิงและความรู้ และจัดหาเทปเสียงหรือซีดีเพลง
                        - เลือกรายการโทรทัศน์ที่ดีมีคุณภาพพร้อมทั้งดูไปพร้อมกันและอธิบายสิ่งที่เด็กไม่
เข้าใจ
                       - หาเวลาพูดคุยกับเด็ก กระตุ้นให้เด็กได้ฟังและซักถาม
                       - อ่านหนังสือให้เด็กได้ฟังบ่อยๆ ประมาณวันละ 7-8 นาที
                       พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทักษะทางภาษาด้านการฟังซึ่งเป็นทักษะสำคัญอย่างหนึ่งของเด็กปฐมวัย

2556/07/16

การจัดเกมให้กับเด็กปฐมวัย

                                 

           เกมที่จัดให้กับเด็กปฐมวัยเป็นกิจกรรมการเล่นที่มีกฎเกณฑ์ กติกา ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้และทำให้เด็กมีพัฒนาการในด้านต่างๆ ฉะนั้นจึงควรเลือกเกมที่มีลักษณะคือ
          - เหมาะสมกับเพศ วัย และความสามารถของผู้เล่น
          - เป็นเกมที่ตรงตามจุดมุ่งหมายของการเล่น
          - ผู้เล่นสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งหมด
          - สามารถดัดแปลงได้ตามความสนใจและสถานการณ์
          - มีกฎกติกาไม่มากเกินไป
          - มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
          - ปลูกฝังคุณธรรมและสุขนิสัยที่ดี
          - เป็นเกมที่มีความปลอดภัย
         การจัดกิจกรรมให้กับเด็กปฐมวัยนั้นจึงเป็นสิ่งที่ีผู้ใหญ่โดยเฉพาะครูต้องคำนึงถึงให้มากดังที่กล่าวรวมทั้งเรื่องพัฒนาการเด็กและจิตวิทยาด้วย

2556/07/14

การจัดการเรียนรู้ด้านการพูดให้กับเด็กปฐมวัย

                            การจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กในด้านการพูดมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทางภาษาให้กับเด็กเล็กๆ เพราะการพูดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีความหมายและตรงตามความต้องการของเด็ก ผู้ใหญ่จึงควรให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆด้งนี้
                            - คำศัพท์ที่เด็กใช้ในชีวิตประจำวันหรือที่เด็กเกี่ยวข้องหรือที่เด็กสนใจ
                            - การใช้คำพูดที่เป็นที่ยอมรับ และคำสุภาพ
                            - การเรียงลำดับคำต่างๆเพื่อใช้ในการสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจ
                            - การใช้คำพูดให้เหมาะสมกับบุคคลที่ต้องการสื่อสารด้วย
                            - ความมั่นใจในการพูดกับผู้อื่น
                            - การยอมรับความคิดเห็นที่ผู้อื่นแสดงออกด้วยการพูด
                           ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรคอยส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องดังกล่าว และคอยฝึกฝนให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการพูดเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางภาษาต่อไป

2556/07/10

กิจกรรมการส่งเสริมทักษะการฟังพูดสำหรับเด็กปฐมวัย

                           โดยปกติแล้วครูปฐมวัยควรจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาให้ครบทั้ง การฟัง พูด อ่านและเขียน แต่ก่่อนอื่นควรพัฒนาด้านการฟังและการพูดด้วยกิจกรรมหรือการใช้สื่อต่างๆดังนี้
                            - การฟังและการพูดจากนิทาน การเชิดหุ่น
                            - การสื่่อสารกับเพื่อนและครู  บุคคลต่างๆ
                            - การพูดด้วยบทร้อยกรอง คำคล้องจอง
                            - การฝึกการแยกเสียงต่่างๆ เช่น เสียงสัตว์ เสียงวัสดุ ฯลฯ
                            - การเล่นเกมปริศนาคำทาย เกมการปฏิบัติตามคำสั้ง
                            - การเล่าเรื่อง การพูดคุยจากการไปศึกษานอกสถานที่ การซักถามในเรื่องที่เด็กสงสัย
                            - การฟังเพลง ดนตรีและจังหวะ
                            การฝึกหรือพัฒนาเด็กด้วยกิจกรรมดังกล่าวทำให้เด็กมีพัฒนาการฟังพูด ก่อนที่จะพัฒนาให้เด็กเกิดความอยากที่จะอ่านและเขียนต่อไป
                     

2556/07/07

กิจกรรมและสภาพที่ส่งเสริมความพร้อมในการเขียน

         การส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการในการเขียนเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพัฒนาการด้วย ไม่ใช่เอาแบบฝึกมาให้เด็กได้ลงมือเขียนทันที
กิจกรรมหรือสภาพที่ควรทำมีดังนี้
         - ให้เด็กเลือกคำที่สนใจจากกล่องขนม กระป๋องสินค้า ฯลฯ แล้วลอกคำนั้นลงในแถบกระดาษที่เสียบไว้ในกระเป๋าผนัง
         - ครูเขียนคำแต่ละคำ ขณะเดียวกันออกเสียงสะกดตัวพยัญชนะในคำที่เขียน
         - ครูเขียนคำต่างๆ เสียบในกระเป๋าผนัง
         - ครูให้เด็กหาคำที่มีตัวอักษรเหมือนคำที่ครูเขียน แล้วให้เด็กเขียนคำนั้นเสียบไว้ที่กระเป๋าผนัง
         - เล่นตบมือเป็นจังหวะตามจำนวนพยางค์ในชื่อ
         - เปรียบเทียบชื่อเพื่อนที่มีตัวอักษรเหมือนกันกับตนเอง
         - ให้เด็กทำหนังสือภาพ โดยมีการเขียนคำบรรยายซึ่งเด็กจะพยายามสะกดคำต่างๆด้วยตนเอง
         - ให้เด็กทุกคนลงลายมือชื่อหรือเซ็นชื่อทุกเช้ามาถึงห้องเรียน
         - จัดมุมเขียนในห้องเรียนพร้อมมีอุปกรณ์และวัสดุที่พร้อมให้เด็กเขียน
         กิจกรรมและสภาพดังกล่าวจะเป็นการเตรียมและส่งเสริมให้เด็กได้มีความพร้อมในการเขียนก่อนที่จะเขียนอย่างเป็นทางการและมีความสามารถในการเขียนต่อไป

2556/06/22

ฝึกทักษะสังเกตให้กับเด็กปฐมวัย

                การให้เด็กปฐมวัยมีทักษะการสังเกตนั้น จำเป็นที่ครู พ่อแม่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความสามารถในการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย โดยใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าวให้สัมผัสโดยตรงกับวัตถุหรือปรากฎการณ์ต่างๆ ไม่ใช่ใช้ตาอย่างเดียวดังนั้นจึงควรให้เด็กได้ใช้อวัยวะดังนี้
                - จมูก ให้เด็กได้ดมดอกไม้ ผลไม้ ว่ามีกลิ่นอย่างไร
                - หู ให้เด็กได้ฟังเสียงวัตถุที่เคาะให้ฟัง เสียงเพลง เสียงร้องของสัตว์
                - ตา ให้เด็กดูสิ่งต่างๆ มีรูปร่าง ลักษณะ ขนาดต่างๆ
                - ลิ้น ให้เด็กได้ลองชิมรส ต่างๆ ที่เป็นรสหวาน รสขม รสเปรี้ยว
                - ผิวกาย ให้เด็กได้ใช้ผิวกายในการสัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยการใช้มือลูบ คลำ หรือแตะว่ามีลักษณะนุ่ม หยาบ ขรุขระ อย่างไร
                การให้เด็กได้ฝึกใช้ประสาทดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจะทำให้เด็กเป้นคนละเอียด สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างดี และมีความสนใจใฝ่รู้เมื่อโตขึ้น

2556/06/13

บทบาทครูปฐมวัยกับกิจกรรมวิทยาศาสตร์

                    การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยนั้นเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เราเข้าใจกันทั่วไปคือการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบต้วเด็กโดยเน้นกระบวนการแสวงหาความรู้และการคิดแก้ปัญหาอย่างมีระบบและมีแบบแผน มีการกำหนดจุดประสงค์หรือปัญหา มีการเก็บและรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกต ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า เด็กได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเองจากความต้องการและความสนใจ และอยากรู้อยากเห็น เป็นการตอบคำถามที่เด็กสงสัยโดยการหาคำตอบด้วยตนเองจากการทำกิจกรรมที่หลากหลาย  สำหรับบทบาทของครูคือเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับเด็กในการปฏิบัติกิจกรรม วางแผนการในการจัดประสบการณ์วิทยาศาสตร์และเตรียมวัสดุอุปกรณ์ คอยใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดหาคำตอบ ด้วยคำถามที่เกี่ยวกับการสังเกตในด้านต่างๆ เช่น  ด้านคุณลักษณะ การกะประมาณ ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ความเปลี่ยนแปลงจากการทดลอง และการสรุปร่วมกันเมื่อสิ้นสุดกิจกรรมการสังเกตหรือกิจกรรมการทดลองต่างๆ

2556/06/09

ครูกับการพัฒนาทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย

          การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย ครูจะจัดกิจกรรมในเรื่องของสิ่งที่อยู่แวดล้อมเด็กซึ่งเกี่ยวข้องกับพืช สัตว์ มนุษย์ ดิน น้ำ อากาศ แสง เสียง เป็นต้น โดยให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจากการสังเกต ทดลองและตอบคำถาม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กประทับใจในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ครูจะต้องพัฒนาให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ครูควรปฏิบัติเพื่อสร้างทัศนคติให้กับเด็กคือ
         - จัดกิจกรรมให้เด็กได้ฝึกการสังเกตสิ่งที่เด็กพบทุกวัน ให้เด็กได้ค้นหาแหล่งข้อมูลง่ายๆ


         - คอยส่งเสริมและสนับสนุนเด็กขณะจัดกิจกรรมการทดลอง ให้เวลากับเด็กโดยคอยให้คำแนะนำและถามคำถามต่างๆ สิ่งที่ครูควรพูดหรือถามได้แก่ นักเรียนคิดอะไร นักเรียนคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเราจะลองอีกครั้งหนึ่งไหมว่าจะเกิดเหมือนเดิมหรือไม่ ลองผลัดกันมาดูทีละคนว่าพวกเราทั้งหมดเห็นเหมือนกันหรือไม่
        ฉะนั้นการพัฒนาทัศนคติทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับครูในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนวิทยาศาสตร์ต่อไป

2556/06/03

การจัดการเรียนแนววอลดอร์ฟ

          การจัดการเรียนการสอนแนววอลดอร์ฟให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์โดยมุ่งหวังให้มนุษย์มีการพัฒนาในด้านต่างๆที่มีความสำคัญดังนี้
        ด้านความรู้สึก ให้มีความเมตตา กล้าหาญ ศรัทธาต่อชีวิต และมีจิดใจใฝ่รู้
        ด้านความคิดแยบคาย  มีพลังและสร้างสรรค์
        ด้านพลังเจตจำนงแน่วแน่ สามารถบรรลุภารกิจแห่งชีวิตที่ตนเองเป็นผู้เลือกสรร
        ในชีวิตของมนุษย์เราวัยเด็กเป็นวัยที่การศึกษาแนววอลดอร์ฟให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพราะเป็นช่วงของความสำคัญสำหรับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์ทุกคนต้องก้าวผ่านและควรจะได้รับการเรียนรู้และประสบการณ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ สำหรับโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแนวนี้ในระดับปฐมวัยคือโรงเรียนบ้านหนองขาม อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ได้ดำเนินการและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเด็กปฐมวัยจะได้เติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่มีความสมบูรณ์ และมีความพร้อมที่จะเรียนในระดับขั้นพื้นฐานต่่อไป


2556/05/30

หลักการสำคัญของการสอนแนวมอนเตสซอรี

            การสอนแบบมอนเตสซอรีเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ได้ริเริ่มโดยดร.มาเรีย มอนเตสซอรี
ซึ่่งมีแนวคิดที่สำคัญหลายประการ เช่น ช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตคือช่วงตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 6 ปี เด็กเจริญเติบโตตามความต้องการและตามธรรมชาติของเด็ก เป็นต้น จากแนวคิดที่สำคัญหลายประการนำไปสู่หลักการสำคัญของการสอนแนวมอนเตสซอรี ที่เริ่มต้นจาก Horme ตัวตนของมนุษย์  แต่ละคนมีพลังที่ทำให้มนุษย์อยู่ได้ พลังงานทำให้ร่างกายและจิตใจคงอยู่ได้ คือความรัก สังเกตได้จากเด็กๆจะมีพลังจากความสุขกับการมีชีวิตกับตัวตน สำหรับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีแนวโน้มความเป็นมนุษย์ของคนเริ่มจากเกิดจนตาย สิ่งที่เป็นพื้นฐานอันดับแรกของมนุษย์คือการปรับตัวให้เข้ากับเวลาและสถานที่ ถ้าเด็กปรับตัวไม่ได้จะเกิดความหวาดกลัวและไม่มีความสุข ฉะนั้นเด็กจะต้องอาศัยผู้ใหญ่สร้างความคุ้นเคยให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้สึกปลอดภัย โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เด็ก เปิดโอกาสให้เด็กรับรู้จากประสาทสัมผัสทั้งห้าและให้เวลาที่เหมาะสมในการทำงาน รูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวครูผู้สอนจำเป็นต้องได้รับการอบรมและฝึกปฏิบัติมาเป็นอย่างดี ที่โรงเรียนอนุบาลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี ในระดับชั้นอนุบาลไดัดำเนินการจัดการเรียนการสอนตามรูปแบบดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เด็กปฐมวัยจึงได้รับการอบรมเลี้ยงดูโดยการวางรากฐานของความเป็นมนุษย์ตามที่กล่าว

2556/05/27

พฤติกรรมที่แสดงถึงความเข้าใจ รับรู้และการใช้คำศัพท์ของเด็ก

          การพัฒนาเด็กปฐมวัยด้านภาษาในเรื่องคำศัพท์มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการทางภาษา แล้วพฤติกรรมใดบ้างที่แสดงถึงความสามารถในเรื่องความเข้าใจ การรับรู้ในคำศัพท์ของเด็กอายุ 3-5ปี
พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
         - ใช้คำศัพท์ต่างๆได้อย่างถูต้องตามความหมายที่ต้องการ
         - บอกคำที่มีความหมายตรงกันข้าม
         - ใช้คำที่แสดงถึงตำแหน่งต่างๆ
         - บอกได้ว่าสิ่งใดอยู่ใกล้ สิ่งใดอยู่ไกล เมือ่เปรียบเทียบของสองสิ่งที่อยู่ระยะต่างกัน
         - บอกคำที่มีความหมายเหมือนกัน (เช่น หมากับสุนัข / กินกับรับประทาน)
         - ใช้คำที่แสดงคุณลักษณะเพื่ออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม
         - อธิบายคำง่ายๆ
         พฤติกรรมดังกล่าวถ้าผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กได้เข้าใจถึงพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการเลี้ยงดูเด็กแล้วก็สามารถที่จะพัฒนาภาษาด้านคำศัพท์ให้กับเด็กตั้งแต่่แรกๆซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กในโอกาสต่อไป

2556/05/21

วินัยในตนเอง:คุณธรรมที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัย

          การเตรียมเด็กปฐมวัยเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คุณธรรมที่มีความสำคัญที่ควรต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดในเด็กปฐมวัยคือการมีวินัยในตนเอง ซึ่งเป็นความสามารถของคนเราที่จะควบคุมอารมณ์และความประพฤติของตนเองได้อย่างเหมาะสม และปฏิบัติได้ตามข้อตกลงหรือระเบียบต่างๆ
วินัยที่กล่าวพอจะสรุปได้ดังนี้
         - การควบคุมตนเอง ได้แก่ การควบคุมอารมณ์ตนเอง อดทนต่อความยากลำบาก
         - การมีความประพฤติทั่วไป ได้แก่ การตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามระเบียบ
         - การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ได้แก่ การดูแลช่วยเหลือตนเอง
         - การเรียน  ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อการเรียนและทำกิจกรรมต่างๆ
         - การทำงาน ได้แก่ ความรับผิดชอบในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย
         เด็กปฐมวัยจะมีวินัยในตนเองได้นั้นต้องได้รับการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก ตลอดจนสังคม สภาพแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่

2556/05/19

จัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้เด็กเพื่ออะไร

            การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัยมีความจำเป็นเพราะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญในการการเรียนวิทยาศาสตร์เมื่อเด็กโตขึ้น ดังนั้นจึงสามารถสรุปจุดมุ่งหมายสำคัญได้ดังนี้
            - พัฒนาเด็กให้มีทัศนคติทางวิทยาศาสตร์คือ มองสิ่งที่พบทุกวัน พิจารณา คุณค่าแหล่งข้อมูล เป็นคนกว้าง และไม่เชื่อโชคลางของขลัง
            - พัฒนาความสามารถุในการแก้ปัญหาโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เด็กมีความสามารถในการหาคำตอบโดยวิธีการต่างๆ
            - ช่วยพัฒนาความสนใจและความชื่่นชมในวิทยาศาสตร์รอบตัวเด็กโดยแสดงการยอมรับในความสนใจของเด็ก กระตุ้นให้เด็กแสดงออกโดยการพูด ฟัง คิด ปฏิบัติ ทดลอง และพิจารณา
            - ช่วยให้เด็กมีความรู้ในเนื้อหาวิทยาศาสตร์ ซึ่งควรเลือกจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเด็ก กระบวนการและเนื้อหาควรมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
            จะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์มีความสำคัญสำหรับเด็กปฐมวัยทั้งการพัฒนาความคิดอย่างมีเหตุมีผล กระตุ่้นความอยากรู้อยากเห็น ตอบสนองสิ่งที่สงสัย เป็นต้น

2556/05/06

ลักษณะกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ

              กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะสำหรับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญสำหรับเด็กเพราะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาอวัยวะทุกส่วน ทำให้เด็กเกิดความสนุกสนาน ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา ด้านภาษาและด้านสังคม ลักษณะของกิจกรรมมีด่ังนี้
              - การเคลื่อนไหวพื้นฐาน ทั้งการเคลื่อนไหวอยู่กับที่และเคลื่อนที่ เช่น การตบมือ เดิน วิ่ง ฯลฯ
              - การเคลื่อนไหวตามบทเพลง
              - การเคลื่อนไหวเลียนแบบ เล่น สัตว์ ท่าทางคน ฯลฯ
              - การทำท่ากายบริหารประกอบบทเพลง คำคล้องจอง
              - การเคลื่อนไหวสร้างสรรค์  เช่น การแสดงท่าทางตามคำบรรยายเรื่องราว  การทำท่าทางตามคำสั่ง การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์
              - การฝึกท่าทางเป็นผู้นำผู้ตาม
              การเคลื่อนไหวของเด็กดังที่กล่าวนั้นเด็กสามารถทำได้ทั้งกิจกรรมเดี่ยวและกลุ่ม เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญซึ่งทำให้เด็กได้พัฒนาอย่างเป็นองค์รวม

2556/04/29

กิจกรรมวิทยาศาสตร์ส่งเสริมความคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัย

            ความคิดวิเคราะห์ในเด็กปฐมวัยเป็นความสามารถที่จะแยกแยะหรือย่อยข้อมูลออกเป็นส่วนที่ทำให้เข้าใจง่าย สามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลได้โดยเข้าใจหลักการและประโยชน์ที่จะนำมาใช้ สามารถจำแนกความเหมือน ความแตกต่าง เปรียบเทียบลักษณะรูปร่างของสิ่งต่างๆได้ บทบาทของ  ครูในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่จะทำให้เด็กมีความคิดวิเคาระห์ควรมีดังนี้
           - ให้เด็กสังเกตและบอกความแตกต่างของสิ่งของต่างๆ เช่น ความแตกต่างระหว่างน้ำเปล่ากับน้ำอัดลม ดินสอกับปากกา น้ำตาลกับเกลือ ดินเหนียวกับดินทราย เป็นต้น
           - ใช้คำถามที่เหมาะสมและถูกจังหวะ เพื่่อกระตุ้นให้เด็กได้คิด
           - ให้เวลากับเด็กได้ปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง ให้เด็กได้สังเกตการเปลี่ยนแปลง อดทนรอคำตอบจากเด็ก
           - พูดอย่างมีจุดมุ่งหมายในขณะที่เด็กปฏิบัติกิจกรรมวิทยาศาสตร์
           - สังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นรายบุคคลและบันทึกผลไว้
           หากครูมีบทบาทและพฤติกรรมดังกล่าวในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กแล้ว จะเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาความคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กปฐมวัย

2556/04/26

ครูปฐมวัยกับการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก

             การส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถด้านการอ่าน ควรให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่่างไม่รู้ตัวโดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน ครอบครัว และโรงเรียนซึ่งจะต้องมีความร่วมมือและประสานสัมพันธ์กัน ให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สำหรับครูปฐมวัยการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กมีปัจจัยที่สำคัญคือ
            - การจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เด็กได้เกิดความอยากอ่านและตระหนักในความสำคัญ เห็นว่าการอ่านให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น การจัดมุมหนังสือ การจัดป้ายนิเทศแสดงนิทานใหม่ๆ
            - การคำนึงถึงพัฒนาการ จิตวิทยา กระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ซึ่งเด็กวัยนี้เรียนรู้จากการเล่น การเรียนรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นต้น

         
         - การจัดการเรียนรู้หรือการจัดประสบการณ์ของครูให้กับเด็ก เช่น การเล่่านิทานหรือการอ่่านหนังสือนิทานให้กับเด็กฟัง การเล่่นเกมทางภาษา การให้เด็กยืมหนังสือนิทานกลับบ้าน ฯลฯ
            ปัจจัยดังกล่่าวถ้าครูปฐมวัยคำนึงถึงและปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และร่วมมือกับพ่อแม่ ผู้ปกครองจะเป็นการส่งเสริมการอ่านให้กับเด็กจนกระทั่งเด็กมีพฤติกรรมการอ่านเมื่อโตขึ้น
 

2556/04/03

การเล่นตามมุมของเด็กปฐมวัย

                      การจัดกิจกรรมเล่นตามมุมให้กับเด็กปฐมวัย เป็นการกิจกรรมให้เด็กได้เล่นกับสื่อและเครื่องเล่นอย่างอิสระในมุมการเล่นแต่ละประเภท เพื่อสนองความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก สิ่งที่จัดให้กับเด็กหรือเนื้อหามีดังนี้
                     - การเล่นบทบาทสมมติ และเล่นเลียนแบบในมุมบ้าน มุมหมอ มุมร้านค้า ฯลฯ
                     - การอ่านหรือการดูภาพในมุมหนังสือ
                     - การสังเกตและการทดลองในมุมวิทยาศาสตร์หรือมุมธรรมชาติ
                     - การเล่นในมุมบล็อก
                     - การเล่นฝึกทักษะต่างๆในมุมเครื่องเล่นสัมผัส
                     - การเล่นฝึกและทบทวนทักษะต่างๆในมุมเกมการศึกษา
                     การเล่นตามมุมดังกล่าวเป้นการเล่นในมุมประสบการณ์ต่างๆเพื่อให้เด็กเล่นอย่างอิสระซึ่่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆให้กับเด็กปฐมวัย

2556/03/27

ลักษณะเกมที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัย

                             เกมที่ให้เด็กปฐมวัยได้เล่นนั้นคือการให้เด็กเล่นอย่างมีกฎเกณฑ์ กติกา ทำให้เกิดความสนุกสนาานเพลิดเพลิน และที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านการเรียนรู้ และพัฒนาการด้านต่างๆ ลักษณะเกมที่ดีมีลักษณะดังนี้
                            - มีกติกาการเล่นที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน
                            - เวลาเล่นไม่มากนัก
                            - เป็นกิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เล่นเกิดความสนุกสนานและพอใจ
                            - อุุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการเล่นหาง่ายและราคาไม่แพง
                            - เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องอาศัยทักษะการเล่นที่ยาก แต่มุ่งส่งเสริมทักษะการเคลื่่อนไหว
                            ดังนั้นเกมมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาในหลายๆด้าน เพราะเด็กปฐมวัยเป็นวัยแห่งการเล่น การเล่นเกมที่เหมาะสมมีผลต่อการช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างมีคุณภาพ

           

2556/03/17

บทบาทครูในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์

         การที่ครูปฐมวัยจะจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กมีทักษะพื้นฐาน กระบวนการและสาระวิทยาศาสตร์เบื้องต้นนั้น บทบาทสำคัญสำหรับครูที่จะทำให้เกิดตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีดังนี้
         - จัดกิจกรรมเน้นกระบวนการวิเคราะห์เพื่อให้เด็กหาความรู้ด้วยตนเอง
         - สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้มีความอบอุ่น ไม่เครียด สร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้
         - หลีกเลี่ยงการพูดมากจนเกินไป กระตุ้นให้เด็กอยากลงมือกระทำในจังหวะที่เหมาะสม
         - จัดเตรียมอุปกรณ์ให้เพียงพอสำหรับใช้ในการทดลอง
         - ดูแลอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่จำเป็น
         - เก็บรวบรวมข้อมูล หลักฐาน และความรู้ต่างๆ
         - ส่งเสริมให้เด็กสะท้อนความคิดและถามคำถามที่่กระตุ้นให้เด็กได้คิด
         - วัดประเมินผลหลังการจัดกิจกรรม
         การจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ครูจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะทำให้เด็กปฐมวัยได้เกิดการเรียนรู้ ทั้งทักษะ กระบวนการ และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์

2556/03/12

สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางภาษา

                    การพัฒนาการทางภาษานั้น ภาษาประกอบด้วยทักษะสำคัญ 4 อย่างคือการฟัง พูด อ่านและเขียน สิ่งที่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางภาษาของเด็กปฐมวัยคือ
                    - วุฒิภาวะ เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษามากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นตามลำดับ
                    - การเข้าใจความหมายของภาษาที่พูด เด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาจำเป็นต้องให้เด็กได้เข้าใจทั้งคำ ประโยค ฯลฯ
                    - สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่สนใจพัฒนาภาษาให้กับเด็กในการพูดคุย และสนใจการใช้ภาษาของเด็ก
                    - การพัฒนาทางภาษาจะต้องพัฒนาไปพร้อมกับการพัฒนาเด็กในทุกๆด้าน
                    - การจัดการเรียนการสอนจะต้องสอนจากง่ายไปยาก
                    - การมีส่วนร่วมควรให้เด็กทุกคนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้้น
                    การพัฒนาการทางภาษาของเด็กจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างซึ่งผู้ใหญ่จะต้องเตรียมและจัดให้สอดคล้องและเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก

2556/03/10

เด็กปฐมวัยกับเพลง

                        เพลงเป็นสื่อสำคัญมากสำหรับการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัย เพราะเด็กชอบความสนุกสนานและเรียนรู้จากการเคลื่อนไหว เพลงที่เป็นสื่อสำหรับเด็กหมายถึงบทร้อยกรอง ลำนำ เนื้อร้อง ทำนอง จังหวะเสียงดนตรี  การขับร้อง เป็นต้น ประโยชน์ของเพลงทีนำมาใช้กับเด็กมีดังนี้
                       - ช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพ
                       - ผ่อนคลายความตึงเครียดของเด็ก
                       - ฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออกให้กับเด็ก
                       - ส่งเสริมทักษะในการแสดงท่าทาง การเคาะจังหวะ
                       - ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
                       - ทำให้การเรียนรู้มีความสนุกสนานเพลิดเพลิน
                       - สร้างความสัมพันธ์ในการทำกิจกรรมร่วมกัน
                       ดังนั้นจะเห็นว่าการนำเพลงมาใช้ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญและมีคุณค่าหาศาลต่อการพัฒนาเด็กในทุกด้านตามเป้าหมายที่เราต้องการ